ตัดหมอกสาดกระจายลงบนพื้นถนน แสงสีส้มส่องผ่านกระจกแท็กซี่จับอยู่บนใบหน้าคนขับ ยามบึ่งรถด้วยความเร็วผ่าสี่แยกไฟแดงด้วยความตื่นระทึก เสียงเบรกและเสียงแตร วิ่งผ่านหูเช่นเดียวกับแสงไฟโฆษณาที่วิ่งผ่านสายตาจนพร่าพรายและเลือนละลาน
ผู้โดยสารสองคนใจเต้น แต่สารถีนิ่งเงียบ เหลืออยู่แต่เสียงกลองแขกและเสียงเครื่องเป่าจากลำโพงในรถเท่านั้นที่ดังกระแทกกระทั้นอย่างไม่แยแสเยื่อแก้วหู ตลอดเส้นทางอันยาวนานนับชั่วโมงจากสนามบินอินธิราคานธีจนถึงโรงแรมที่พัก
Incredible India! สหายร่วมทางของผมกล่าวลอยๆ ออกมายามควักเงินจ่ายค่าโดยสาร เจ้าแท็กซี่สนองตอบด้วยการส่ายหัวแล้วยักไหล่ก่อนกระชากรถรุ่นสงครามโลกออกไป ทิ้งไว้เพียงควันดำจากท่อไอเสียยาวเป็นลำเหมือนพ่นออกมาจากเครื่องบินกามิกาเซ่ตอนถูกเรือปืนอเมริกันยิงร่วงจากท้องฟ้า
'อินเดียที่น่าพิศวง' คือความหมายของประโยคข้างบน เป็นคำจากป้ายโฆษณาชวนเที่ยวเช่นเดียวกับ Unseen Thailand แต่เมื่อถูกนำมาใช้ในสถานการณ์เช่นนั้น อาจให้ความหมายในทางตรงกันข้าม
ผมกับแซมเหยียบยืนอยู่บนบาทวิถีหน้าโรงแรม รู้สึกได้ว่าความหนาวเพิ่งมาเยือนเดลีเท่านั้น แม้กลิ่นอับชื้นจากหมอกผสมฝุ่นควันจะเป็นสัญญาณของฤดูหนาว แต่ลมแล้งที่แท้จริงจากป้อมปราการหิมาลัยยังเดินทางมาไม่ถึงเมืองหลวง ถึงอย่างนั้นชาวเดลีโดยทั่วไปอย่างน้อยต้องสวมแจ๊คเก็ตกันแล้ว
ที่จริง, นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของเราในอินเดีย แต่เป็นครั้งที่สามในรอบสองปีของผมในอนุทวีปอันกว้างใหญ่นี้ สำหรับเมืองหลวงเดลี ผมเหยียบย่างเข้ามาเป็นครั้งที่สองในรอบหลายปี ครั้งแรกผมเข้ามากับเขา และครั้งนี้, เขาอีกนั่นแหละที่ชวนผมเข้ามา
แซม กัลยาณี เป็นนักถ่ายทำสารคดี เมื่อต้นปี 2004, เราทั้งสองร่วมทางสู่นากาแลนด์-รัฐปกครองตัวเองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เขาทำงานด้วยกล้อง แต่ผมใช้ปากกาและกระดาษ เนื้อหาที่เราอยากจะถ่ายทอดคืออดีตและปัจจุบันของขบวนปฏิวัติในรัฐนั้น
มาบัดนี้, ต้นเดือนพฤศจิกายน 2004, แซมต้องการความสมบูรณ์ของงานที่ทำ เขาว่าสารคดีชิ้นดังกล่าวจะปิดกล้องไม่ได้ถ้ายังขาดเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพ และเนื้อหาที่ว่านี้สามารถหาได้ในเดลี เนื่องจากอิซซัคและมุยวาห์ กำลังจะบินมาเพื่อเริ่มต้นกระบวนการเจรจากับนายกรัฐมนตรีโมฮัน ซิงห์ของอินเดียในเร็ววันนี้
และนี่คือสาเหตุแห่งการมาเยือนเดลีของเรา
อิซซัค ชิสชิ สวู (Issac Chishi Swu), ประธานองค์กรปฏิวัติ National Socialist Council of Nagaland และ ที.เฮช. มุยวาห์ (TH. Muivah), เลขาธิการขององค์กร มีกำหนดจะบินจากน็อตเตรอดัมมายังเมืองหลวงของอินเดียในอีกสามสี่วันข้างหน้า หลังจากพบปะกับผู้นำอินเดียคู่ปฏิปักษ์แล้ว คนทั้งสองจะเดินทางต่อไปยังนากาแลนด์ และเราจะถือโอกาสนั้นติดตามเข้าไปด้วย ทั้งนี้ โดยล็อบบี้ผ่านผู้คนในขบวนปฏิวัติดังกล่าว
หากเสร็จสิ้นภารกิจในรัฐนั้นแล้ว ผมกับแซมยังมีแผนว่าจะเดินทางต่อไปยังรัฐอรุณาฌาลประเทศ (Arunachal Pradesh) บนเทือกเขาหิมาลัยที่ผมใฝ่ฝันจะไปเยือนมาหลายปีแล้ว ทั้งอาจจะเลยไปยังรัฐอัสสัม (Assam), ดินแดนของชาวไทยอาหมที่ประชิดอยู่ด้วยกัน รวมทั้งชิลลอง (Chillong), เมืองหลวงของรัฐเมฆาลายาที่ได้ยินมาว่าเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยว
ทว่า ช่วงสามสี่วันแรกในระหว่างรอคอยนั้น เราสองคนไม่มีอะไรทำมากไปกว่าเที่ยวเตร็ดเตร่ไปในเมืองหลวงที่ล้นหลามไปด้วยผู้คน ด้วยเหตุนี้, หลังจากเช็คอินเข้าไปยังห้องพักของโรงแรมแล้ว พอวันรุ่งเราจึงออกตะลอนไปตามถนนรนแคมของเดลี พร้อมด้วยกล้องถ่ายรูปและสมุดบันทึก
เมืองหลวงของอินเดีย พ.ศ.นี้ แตกต่างจากที่ผมเคยรู้จักเมื่อมาเยือนครั้งแรกในปี 1995 จำได้ว่าเดือนธันวาคมของปีนั้น อากาศหนาวจับขั้วหัวใจ อุณหภูมิในใจกลางเมือง รูดต่ำลงถึง 5 องศาเซนเซียส คนจนที่อาศัยอยู่ตามข้างถนนนั่งผิงไฟกันเป็นกลุ่มๆ ควันจากกองไฟคลุ้งกระจายไปทั่ว ยิ่งเพิ่มมลภาวะให้หนักหนายิ่งขึ้น
ที่กลางดาวน์ทาวน์ใกล้ถนนตอลสตอย, ฝุ่นควันที่แขวนลอยอยู่ในอากาศมีความเข้มข้นถึงขนาดน้ำตาไหล ส่วนในโพรงจมูกยังคั่งด้วยน้ำมูกใสๆ ตลอดเวลา
จำได้ว่าที่หน้ามหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์แห่งหนึ่ง ซึ่งผมเข้าไปพักอยู่ เดินออกจากมหาวิทยาลัยในตอนเช้าผมเหยียบอุจจาระของคนเข้าเต็มเปา ในบริเวณกลางใจเมืองยังเห็นคนยืนปัสสาวะรดกำแพงจนน้ำเจิ่งนองไปตามฟุตบาธ ส่งกลิ่นขจรขจายแพร่เข้าจมูกยามเดินผ่าน เนื่องจากการหมักหมมของน้ำที่ระบายออกจากร่างกายมนุษย์ อินเดียตอนนั้นดูยังสกปรกมาก
สองปีก่อนผมเดินทางไปไฮเดอราบัด-เมืองศูนย์กลางทางภาคใต้ของชมพูทวีป สหายชาวอินเดียที่นั่นเตือนให้ผมตระหนักในกฎเกณท์สองสามข้อสำหรับใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้
"ข้อหนึ่ง, ฟุตบาธมีไว้เยี่ยวไม่ใช่ทางเดิน!" เขากล่าว และเพิ่มเติมข้อสองว่าพึงระวังเมื่อต้องใช้ถนนเพราะกฎจราจรที่นี่มีไว้เพื่อการละเมิดเท่านั้น
ข้อสามก็สำคัญ, "อย่าดื่มน้ำจากที่ไหน, ยกเว้นน้ำบรรจุขวดจากร้านค้า ทั้งต้องพกติดตัวไปด้วยเสมอ"
แต่คำเตือนข้อนี้มาสายเกินไป ครั้งนั้นผมซื้อน้ำส้มสดจากข้างถนนมาดื่ม ผลก็คือผมติดเชื้อไวรัสไทฟอยด์จนต้องเข้าไปนอนในโรงพยาบาลเอกชนที่นั่น ทั้งต้องเสียเวลาฟื้นไข้อยู่เป็นสัปดาห์ มาอินเดียเที่ยวนี้บทเรียนดังกล่าวทำให้ผมจำได้ไม่ลืม
แต่ตอนนี้ต่างออกไป เดลีดูดีขึ้นจนผิดหูผิดตา แม้มลภาวะยังสูงอยู่ แต่ถนนสะอาดขึ้น โดยเฉพาะบริเวณย่านใจกลางเมืองและพื้นที่โดยรอบสำนักงานรัฐบาลที่เราผ่านไป ส่วนตามข้างถนนอุจจาระและปัสสาวะลดลง ขอทานและคนจนที่ใช้ฟุตบาธเป็นที่อาศัยถาวร เริ่มหายไปบ้าง แต่น้ำประปาในโรงแรมยังคงมีสีขุ่นดำอยู่ เชื่อว่าความเจริญหูเจริญตานี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ
เปิดดูโทรทัศน์พบว่าช่วงข่าวพยากรณ์อากาศ ทีวีอินเดียระบุตัวเลขความเข้มข้นของมลภาวะตามเมืองต่างๆ แม้กระทั่งในเมืองหลวงเดลีเอง อันเป็นการยอมรับความจริง และประจานความไม่เอาไหนของเทศบาลมลรัฐเพื่อเรียกร้องให้ปรับปรุงโดยเร่งด่วน
เปิดหนังสือพิมพ์เช้าในวันถัดมาพบว่าเทศบาลของกรุงโคลกาต้า (หรือกัลกัตตา) รณรงค์ให้คนทำความสะอาดด้วยการนำดาราและมิสอินเดียออกมากวาดถนน แต่ในหน้าถัดมายังมีข่าวความไม่ปลอดภัยของน้ำดื่มและเครื่องดื่มชนิดบรรจุขวด เนื่องจากการปนเปื้อนของสารเคมีและเชื้อโรค
ออกมาเดินเล่นบนถนน, แม้ยังมีควันดำคลุ้งไปทั่ว เพราะโดยทั่วไปผู้คนยังใช้รถเก่าที่เครื่องยนต์เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ แต่กลิ่นน้ำมันแบบมีสารตะกั่วหายไปจากถนนเป็นส่วนใหญ่แล้ว ยิ่งกว่านั้น, เทศบาลเดลียังรณรงค์ผู้คนให้ใช้ส้วมสะอาด และพยายามติดตั้งส้วมสาธารณะไว้ในที่ชุมชนมากขึ้น พวกเขาคุยว่าอินเดียเป็นประเทศแรกของโลกที่นำส้วมซึมแบบสมัยใหม่มาใช้เมื่อร้อยกว่าปีก่อน
เหล่านี้คือตัวอย่างของพัฒนาการที่ดีของดินแดนที่มีประชากร 1,100 ล้าน
ว่าแต่เมื่อไหร่รัฐบาลจะรณรงค์ให้แท็กซี่เลิกโกงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเสียที เพื่อว่าประโยค Incredible India ของการท่องเที่ยว จะได้มีความหมายในเชิงบวกมากขึ้น!
ลมแล้งจากหิมาลัย / อัคนี มูลเมฆ เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 668 วันที่ 21 - 27 มี.ค. 2548
ระหว่างดื่มวอดก้าจากเดนมาร์กรออยู่ในโรงแรม 'บัลจีด-ลอดจ์' ละแวกแอฟริกาอาเว็นนูในเดลี ผมกับแซม กัลยาณี ไม่มีอะไรทำมากนัก ในช่วงนั้นมีสหายชาวนากาหลายคนผลัดกันแวะเวียนมาเยี่ยม บางครั้งยังพาพวกเราออกไปรับประทานมื้อเย็นตามบ้านสหายซึ่งเป็นลูกหลานของผู้นำในขบวนการปลดแอก นั่นทำให้เรามีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลเหล่านั้น
วันหนึ่งเราไปเยี่ยมเยือนสหายเอ็นจีโอชาวนาการายหนึ่ง ด้วยการนั่งรถข้ามไปยังรัฐอุตรประเทศ รัฐนี้คล้ายกับ 'ฝั่งธนฯ' ของไทยตรงที่ประชิดอยู่กับเมืองหลวงเดลีเพียงข้ามฝั่ง 'แม่น้ำยมุนา' ระหว่างที่รถวิ่งอยู่บนสะพาน ผมมองลงไปดูแม่น้ำแล้วใจหาย ยมุนาตื้นเขิน เต็มไปด้วยขยะและมลภาวะปนเปื้อน ทั้งที่สองฟากฝั่งมีโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ผุดขึ้นมากมาย แต่ไม่มีใครสนใจจะพัฒนาแม่น้ำ
แม่น้ำสายอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อไปเยือน 'โคลกาต้า' ในปี 1995 ครั้งที่ยังใช้ชื่อ 'กัลกัตต้า' อยู่ ผมลองนั่งเรือข้ามฟาก 'แม่น้ำคงคา' ไม่น่าเชื่อ, บนผิวน้ำมีสม็อก (smog) หรือหมอกผสมควันพิษลอยอยู่ทั่วไป ยามยืนอยู่บนเรือรู้สึกแสบตาจนน้ำตาไหลพราก มลพิษในเมืองใหญ่ของอินเดียหนักหนาจนเข้าขั้นวิกฤติมานานแล้ว
ขณะชักม้าชมเมืองไปเรื่อยๆ นั้น สหายชาวนากายังพาเราไปเยี่ยมประตูชัยละแวกที่ทำการรัฐสภา ผมไม่มีอะไรทำ ได้แต่นั่งสเกตช์รูป อันที่จริงประตูชัย, อาคารที่ทำการรัฐบาล และภูมิทัศน์ในลักษณะนี้ ผมเคยเห็นมาในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าในลาว, เขมร หรือแม้กระทั่งภูมิทัศน์แถวสนามหลวง-ราชดำเนิน-พระบรมรูปทรงม้า ที่อยากจะกล่าวถึงก็คือ การวางผังออกแบบละม้ายคล้ายคลึงกันหมด เป็นการก๊อบปี้ฝรั่งมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม แม้ดูแล้วสวยงามดี แต่จะน่าภูมิใจมากกว่านี้ถ้าคิดเอง ทำเอง
ในวันสุดท้าย ขณะอยู่ในเดลี เรายังมีโอกาสไปคารวะสุสานของท่านมหาตมคานธี ท่ามกลางชาวอินเดียที่เดินทางไปเยี่ยมชมกันมากมาย ท่านที่เคยอ่านเรื่องราวหรือดูภาพยนต์เกี่ยวกับชีวประวัติของท่านผู้นี้ คงทราบดีถึงความยิ่งใหญ่ของคานธี เขาคือรัฐบุรุษที่แท้จริงของผู้คนทั้งอนุทวีป อันหมายรวมถึงอินเดีย, ปากีสถาน และบังกลาเทศ อานิสงส์ของการปลดตัวเองจากแอกของลัทธิล่าอาณานิคม ยังมีไปถึงศรีลังกา, เนปาล และพม่า ทั้งที่ท่านผู้นี้เป็นเพียงสามัญชน
จำได้จากหนังสารคดีว่าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แม้กระทั่งเซอร์ วินสตัน เชอร์ชิลล์, นายกรัฐมนตรีอังกฤษในสมัยนั้น ยังไม่รู้ว่าคานธีเป็นใคร อยู่ๆ ชายแก่ร่างผอมกะย่องกะแย่งโผล่มาเป็นผู้นำในขบวนเรียกร้องเอกราชได้อย่างไร ทั้งรู้สึกพิศวงในลัทธิอหิงสา ซึ่งเป็นยุทธวิธีสู้รบที่ปฏิวัติโดยไม่ใช้อาวุธเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของโลก แต่กว่าจะรู้ตัว อังกฤษต้องสูญเสียอาณานิคมอินเดียอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ไปเสียแล้ว
และจำได้จากการอ่านว่า ตอนท่านเสียชีวิต, 'ไอน์สไตน์'-นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพ, กล่าวยกย่องคานธีว่า "ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนแบบนี้เดินเหินอยู่บนโลกใบนี้ด้วย!"
สิ้นบุญท่านคานธี อำนาจการปกครองอินเดียตกอยู่ในมือของเนรูห์ ทั้งสืบทอดเหมือนเป็นมรดกไปถึงรุ่นลูกและรุ่นหลาน ตระกูลคานธีของเนรูห์ บริหารประเทศด้วยทัศนะแบบอนุรักษนิยม เป็นพวกไม่ยอมอ่อนข้อให้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน อันเป็นความคิดที่ตรงข้ามกับทัศนะของมหาตมคานธี
'สัตยา ศิวะรามัน', สหายสื่อมวลชนชาวฮินดู, ให้ความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า ความรู้สึกหวงแหนดินแดนได้รับแรงกระตุ้นจากการถูกยึดครองโดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษ คนเหล่านี้มองประเทศด้วยการติดยึดอยู่กับแผนที่ ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า 'ชาติ' ที่มิได้หมายถึงเฉพาะดินแดน แต่รวมทั้งวัฒนธรรม,ผู้คน และอื่นๆ
ชมภูทวีปแตกแยกออกมาเป็นปากีสถาน และต่อมาเป็นบังกลาเทศ ความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐบาลเดลีกับรัฐบาลในอิสลามาบัด ก่อให้เกิดร่องความร้าวฉานใหญ่ขึ้นทุกที โดยเฉพาะความขัดแย้งเหนือดินแดนแคชเมียร์ที่ต้องการแยกตัวออกไปเป็นประเทศเอกราช ทั้งนี้ ภายใต้การสนับสนุนของปากีสถาน กรณีพิพาทชายแดนกับจีน ทำให้ประเทศทั้งสองกลายเป็นปฏิปักษ์กัน กระทั่งรัฐบาลจีนหันมาถือหางฝ่ายปากีสถาน
ความขัดแย้งระหว่างเพื่อนบ้านอินเดีย-ปากีสถาน ยังนำไปสู่การทำสงครามกันหลายครั้ง รวมทั้งการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ อันทำให้ชาติทั้งสองสูญเสียชีวิตทหารและงบประมาณจำนวนมหาศาลในสองสามทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าทั้งคู่เป็นประเทศยากจนก็ตาม
การจมปลักอยู่กับความขัดแย้งจนโงหัวไม่ขึ้น ทำให้อนุทวีปแห่งนี้เป็นภูมิภาคแห่งความทุกข์ยากและไร้การพัฒนา ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากลัทธิหวงดินแดนของกลุ่มผู้นำหัวอนุรักษนิยม และอันที่จริง, ผู้นำในตระกูลคานธี 3 คน ก็ต้องจบชีวิตลงด้วยฝีมือของนักแบ่งแยกดินแดนนั่นเอง
อินเดียหลังการปลดปล่อยเมื่อปี 1947 เลือกที่ใช้วิถีทางประชาธิปไตยมาปกครองประเทศ เหตุผลสำคัญของการเลือกเช่นนี้ คือความต้องการที่จะสร้างเอกภาพของชาติจากความหลากหลายทางเชื้อชาติ, ศาสนา, เผ่าพันธุ์, ชนชั้น และวรรณะ ความยากจนของชาติทำให้รัฐบาลเดลีในยุคนางอินธิรา คานธี ประกาศตัวเองเป็นนักสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ และหันไปคบค้าสมาคมกับสหภาพโซเวียตในขณะนั้น
ต่อประเด็นนี้, สหายสื่อมวลชนของผม ยอมรับว่า ระบบประชาธิปไตยทางการเมืองและระบบสังคมนิยมทางเศรษฐกิจของอินเดีย ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง "ความภูมิใจที่ว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะได้ประโยชน์อะไร ในเมื่อมีแต่ความไร้ประสิทธิภาพ" เขาว่า
นั่นอาจจะจริงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีนที่มีพลเมืองไล่เลี่ยกัน จีนปกครองด้วยระบบเผด็จการสังคมนิยม แต่สามารถสร้างประสิทธิภาพของชาติในทุกด้าน ไม่ว่าในเรื่องเศรษฐกิจ, เทคโนโลยี และการทหาร รัฐบาลปักกิ่งดูแลปากท้องของประชากร 1,300 ล้านคน ทั้งสามารถก้าวรุดหน้าอย่างรวดเร็วจนเป็นที่วิตกของชาติตะวันตกทั้งหลาย
หลังการเสียชีวิตของนางอินธิรา และบุตรชายทั้งสอง พรรคคองเกรสเริ่มอ่อนแอลงเมื่อตกมาอยู่ภายใต้การนำของนางโซเนียผู้เป็นสะใภ้ นั่นเท่ากับเปิดโอกาสให้พรรคพันธมิตรฝ่ายค้านก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาลในรอบหลายปี
รัฐบาลของนายเอตัล พิหารี วัจปายี มองเห็นโทษภัยของลัทธิหวงดินแดนที่เป็นเหตุให้อนุทวีปจมปลักอยู่กับความขัดแย้ง ในสมัยสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายวัจปายีต้องการปรับทิศทางนโยบายเสียใหม่ อินเดียต้องการเจรจาสันติภาพกับปากีสถาน รอมชอมกับจีน เลิกแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ ต้องการแก้ปัญหาแคว้นแคชเมียร์ด้วยการเจรจากับกลุ่มขบถ รวมทั้งกับกลุ่มขบถแยกดินแดนอื่นๆ ที่มีอยู่อย่างดาษดื่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นองค์กรปฏิวัติของนากาแลนด์ เป็นต้น
ขณะพรรคคองเกรสของนางอินธิรา มองอินเดียจากจุดยืนภายใน นายวัจปายีมองประเทศจากจุดยืนภายนอก เขาเห็นความยากจน ความล้าหลัง และความอ่อนแอที่มีสาเหตุมาจากความขัดแย้ง เขาจึงทำในทางตรงกันข้าม นั่นคือ ขจัดความบาดหมางในภูมิภาค และสร้างความสมานฉันท์ระหว่างกัน
นายวัจปายีต้องการแก้ไขปัญหาประเทศตามทัศนะของมหาตมคานธี เขายังเชิญผู้นำขบถของนากาแลนด์มาเจรจาในเมืองหลวง ผลสืบเนื่องของนโยบายนี้ทำให้ผมมีโอกาสมาเยือนเดลีอีกครั้ง แต่น่าเสียดายรัฐบาลของเขาหมดวาระลง และถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคคองเกรส
ขณะก้มกราบหลุมศพของมหาบุรุษสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่ในวันนั้น ผมรู้สึกซาบซึ้งในสายตาอันยาวไกลและมรดกทางความคิดของมหาตมคานธี อย่างน้อยที่สุด, ผมได้ตระหนักว่าลัทธิปฏิเสธความรุนแรงของท่าน คือทางออกที่แท้จริงของประเทศในภูมิภาคนี้
ลมแล้งจากหิมาลัย / อัคนี มูลเมฆ เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 670วันที่ 4 - 10 เม.ย. 2548