Members Login
Username 
 
Password 
    Remember Me  
Post Info TOPIC: ตามรอย 'ร.5 เสด็จอินเดีย'


Senior Member

Status: Offline
Posts: 379
Date:
ตามรอย 'ร.5 เสด็จอินเดีย'
Permalink   


เยือนถิ่นภารตะ

ตามรอย 'ร.5 เสด็จอินเดีย' มองการปฏิรูปรัชสมัยมุมใหม่


Banaras Ghat


     


       แม้จะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม แต่แสงแดดที่เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย ยังจัดจ้าไม่น้อย


      บนศาลาของป้อมรามนคร ริมน้ำคงคา เมื่อมองข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่งก็จะเห็นท่าน้ำ (GHAT) ที่ตั้งเรียงรายอยู่ลิบๆ อันเป็นจุดที่ผู้คนชาวฮินดูมาอาบน้ำชำระร่างกายเพื่อชำระบาป

       ชาวฮินดูเชื่อกันว่า แม่น้ำคงคาเป็นสายน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ ทุกๆ ปีจะมีผู้แสวงบุญชาวฮินดูนับล้านคน เดินทางมาจาริกแสวงบุญ และในวันที่สิ้นชีพลง ญาติพี่น้องก็ต้องนำศพมาเผาและทิ้งเถ้าอังคารลงแม่น้ำสายนี้เช่นกัน ด้วยเชื่อว่าแม่น้ำที่ไหลมาจากภูเขาหิมาลัยสายนี้ จะนำพาพวกเขาไปสู่สวรรค์ได้

      ย้อนอดีตกลับไป 100 ปีเศษ มหาราชาแห่งป้อมรามนคร ได้ถวายการต้อนรับยุวกษัตริย์พระองค์หนึ่งของไทย ดังข้อความที่ปรากฏในหนังสือ 'ร.5 เสด็จอินเดีย' ซึ่งเขียนโดย ศ.สาคชิดอนันท สหาย แห่งมหาวิทยาลัยมคธ เมืองพุทธคยา ว่า

    "วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2414...ในตอนเย็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนป้อมรามนคร ที่ซึ่งพระองค์ได้รับการต้อนรับจากอิชวารี ปราสาท นาเรน สิงห์ ผู้เป็นมหาราชาแห่งพาราณสี ทรงประทับบนเรือล่องแม่น้ำคงคาจากราชฆาต ไปจนถึงรามนคร ยุวกษัตริย์ทรงพระเกษมสำราญกับทิวทัศน์อันงดงามที่สุดตอนหนึ่งของแม่น้ำอันศักดิ์สิทธิ์...

     "ที่บริเวณท่าน้ำของป้อมรามนครนั้น มหาราชาแห่งพาราณสีได้จัดเตรียมควาญช้างและม้าจำนวนมากเพื่อต้อนรับคณะของพระเจ้าแผ่นดินสยาม มีการยิงสลุตถวายการคำนับ 21 นัดในนามของมหาราชาแห่งพาราณสี เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึง และเสด็จพระราชดำเนินจากไป"

     ป้อมรามนครแห่งเมืองพาราณสี เป็นสถานที่หนึ่งที่รัชกาลที่ 5 เสด็จไปเยือน ในคราวที่ประพาสอินเดีย ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้ 19 พรรษา และได้รับการต้อนรับจากอิชวารี ปราสาท นาเรน สิงห์ มหาราชาแห่งพาราณสี (พ.ศ.2373-2432) มหาราชาผู้อุปถัมภ์ศิลปะที่ยิ่งใหญ่ รวมทั้งอุปถัมภ์โรงละครรามายนะ ทำให้ป้อมรามนครเป็นสถานที่อันมีชื่อเสียง อันเนื่องมาจากมีคณะต่างๆ วนเวียนมาแสดงละครรามายนะที่นี่ในช่วงปลายเดือนกันยายน-ตุลาคม

     รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จอินเดียและพม่า พร้อมทั้งแวะที่มะละกาและปีนัง ในปี พ.ศ.2414 (16 ธันวาคม 2514-16 มีนาคม 2515) โดยเข้าทางอ่าวเมืองกัลกัตตา แล้วเดินทางโดยรถไฟไปพาราณสี เดลลี บอมเบย์ และสารนาถ การเดินทางส่วนใหญ่ใช้รถไฟ รวมแล้วใช้เวลาบนรถไฟ 200 ชั่วโมง

      สำหรับเมืองที่พระองค์เสด็จประพาสในครั้งนั้น ประกอบด้วย กัลกาตา เดลี อักรา คอนปอร์ ลักเนาว์ บอม เบย์ และพาราณสี โดยใช้เวลาถึง 47 วัน

       อินเดียที่รัชกาลที่ 5 ทรงไปพบเห็นนั้น เป็นยุคสมัยของบริติชราช ที่สืบมรดกดินแดนและอำนาจมาจากบริษัทอีสต์อินเดียที่ถูกยุบเลิกไปในปี พ.ศ.2401 ภายหลังการมีกบฏอินเดียครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2400 ทำให้มีการตั้ง 'กระทรวงอินเดีย' ขึ้น มีรัฐมนตรีดูแลกำกับรับผิดชอบโดยตรงในกรุงลอนดอน ในขณะที่อินเดียเองมีตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ ซึ่งต่อมาได้รับยกย่องให้เป็นอุปราช

       ศ.สาคชิดอนันท สหาย กล่าวว่า จากเอกสารและข้อมูลที่สำรวจมา ชี้ให้เห็นว่า การเดินทางในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของรัชกาลที่ 5 ในขณะที่พระองค์ทรงเป็นยุวกษัตริย์อายุ 19 ปีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความปรารถนาที่จะได้เห็นสถานที่แปลกใหม่ หรือเป็นการศึกษาส่วนพระองค์ หากแต่เป็นการดำเนินวิเทโศบายทางการทูตชั้นสูงที่วางแผนขึ้น เพราะได้ตระหนักถึงอำนาจของอังกฤษที่ทวียิ่งขึ้นในประเทศอินเดียและประเทศพม่า ประการสำคัญ คือ

       "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพยายามอย่างยิ่งในการสำรวจสถานการณ์ร่วมสมัยในบริบททั้งด้านการเมือง การทหาร สังคมและวัฒนธรรมของประเทศอินเดีย เพื่อใช้เป็นแบบอย่างสำหรับประเทศของพระองค์"

       ขณะที่ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า

       หนึ่ง - การเสด็จต่างประเทศในสมัยต้นรัชกาลเมื่อยังเป็นยุวกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสด็จเมืองขึ้นของอังกฤษ คือสิงคโปร์ (และชวาของฮอลันดา) พ.ศ.2413 และการเสด็จอินเดียกับพม่าในปี พ.ศ.2414 มีความสำคัญยิ่งต่อการปฏิรูปนโยบายในสมัยรัชกาลที่ 5 และต่อๆ มาในสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7

        สอง - การปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้สยามกลายเป็น 'รัฐราชวงศ์' ที่มีการโยงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่องค์พระมหากษัตริย์ กลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มากกว่าการเป็น 'รัฐชาติ หรือรัฐประชาชาติ' อันเป็นรูปแบบของรัฐสมัยใหม่ นับแต่การปฏิวัติประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกัน พ.ศ.2119 (ตรงกับสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี-ตากสิน) หรือการปฏิวัติฝรั่งเศส พ.ศ.2332 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)

       กล่าวโดยสรุป ดร.ชาญวิทย์ มีความเห็นว่า การเสด็จฯ ต่างแดนรอบๆ บ้านสยามในอาณานิคมของฮอลันดาและอังกฤษ คือสิงคโปร์ (ชวา พม่า และอินเดีย) มีความสำคัญอย่างยิ่ง และจะทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์การเมือง การปกครองของไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ดีและมากกว่า

        โดยรูปแบบการปกครองของเจ้าอาณานิคมนี้ เป็นสิ่งที่รัชกาลที่ 5 รวมทั้งเจ้าและขุนนางสยาม ให้ความสนใจ ต้องการเรียนรู้และลอกเลียน เพราะเป็นเรื่องที่เห็นชัดใกล้ตัว มีผลกระทบต่อบ้านเมืองของสยามโดยตรง ก่อนที่ชนชั้นนำไทยจะเดินทางไปไกลถึงศูนย์กลางของมหาอำนาจใหม่ที่กรุงลอนดอน กรุงปารีส กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก หรือบางเมืองหลวงของประเทศในยุโรปอีกสองสามทศวรรษต่อมาจากต้นสมัยรัชกาลที่ 5

        และในโอกาสครบรอบวันพระบรมราชสมภพ 150 ปีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มูลนิธิโตโยต้า ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง 'รัชกาลที่ 5 : สยามกับอุษาคเนย์และชมพูทวีป' ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2546 ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

        งานสัมมนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เผยแพร่พระเกียรติคุณ และพระบารมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในด้านความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง เพื่อทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอดีต และพัฒนาการของการเมืองระหว่างประเทศ สยาม ไทย และอุษาคเนย์




รายงานพิเศษ สิริวิชญ์ เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 598 วันที่ 17 - 23 พ.ย. 2546



-- Edited by Bollywood2Thai at 09:14, 2005-04-10

-- Edited by Bollywood2Thai at 09:18, 2005-04-10

-- Edited by Bollywood2Thai at 09:20, 2005-04-10

__________________


Senior Member

Status: Offline
Posts: 379
Date:
Permalink   








 




อินเดีย...คือต้นแบบปฏิรูปเมืองไทยในสมัย ร.5


สุรินทร์ มุขศรี
มติชน  ฉบับวันที่ 14/11/46


ภัยคุกคามจากชาตินักล่าอาณานิคมเริ่มคืบคลานเข้ามาแถบเอเชียและแหลมอินโดจีนตั้งแต่ช่วงปลายสมัยอยุธยา และเริ่มส่งผลกระทบชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 ซึ่งเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับรู้และทรงตระหนักดีถึงภัยพิบัติที่จะตามมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ส่งผลให้เมื่อขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงทรงให้ความสำคัญกับการเสด็จประพาสต่างประเทศเพื่อศึกษากุศโลบายการปกครอง และแบบแผนการพัฒนาชาติบ้านเมืองของชาติตะวันตกอย่างรอบด้านและเร่งด่วน
ในการเสด็จฯต่างประเทศครั้งสำคัญๆ ทั้งหมด 6 ครั้งนั้น เรามักได้ยินการกล่าวถึงเฉพาะการเสด็จประพาสยุโรปเมื่อปี พ.ศ.2440 และ พ.ศ.2450 ซึ่งอยู่ในช่วงปลายรัชกาล ขณะที่การเสด็จฯเยือนประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษอย่าง สิงคโปร์ พม่า และอินเดีย รวมทั้งชวาในการปกครองของฮอลันดาถึง 2 ครั้งในช่วงต้นรัชกาล กลับมีข้อมูลให้ศึกษาน้อยมาก
ทั้งที่การปฏิรูปสยามประเทศให้เจริญรุดหน้าทัดเทียมอารยประเทศในหลายด้าน อาทิ การตั้งหอรัษฎากรเพื่อจัดเก็บภาษี การตั้งกระทรวงทบวงกรม การตั้งมณฑลเทศาภิบาล การเลิกทาส และการรถไฟ ล้วนได้แบบอย่างจากการเสด็จฯทรงศึกษาดูงานในอินเดียและประเทศเพื่อนบ้านในช่วงต้นรัชกาลทั้งสิ้น
ด้วยเล็งเห็นคุณค่าในการเผยแพร่องค์ความร
ู้เหล่านี้ รวมทั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสวันพระบรมราชสมภพครบ 150 ปี ทางมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้จัดโครงการพาสื่อมวลชนไปเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ด้วยการตามรอยพระพุทธเจ้าหลวงครั้งเสด็จฯอินเดีย พร้อมการเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ว่าด้วยเรื่อง ร.5 เสด็จอินเดียล้วนๆ แถมพกเป็นคู่มือเดินทางอีกหนึ่งเล่ม
หนังสือ ร.5 เสด็จอินเดียเล่มนี้แปลจากงานเขียนชื่อ India in 1872: As Seen by the Siamese ของ ดร.สาคชิดอนันท สหาย แห่งมหาวิทยาลัยมคธ เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งท่านได้ใช้เวลาทุ่มเทค้นคว้าวิจัยเรื่องราวเกี่ยวกับการเสด็จฯครั้งนั้นถึง 5 ปี จึงได้งานเขียนเชิงวิเคราะห์ที่อ่านเข้าใจง่ายและสะท้อนมุมมองในหลายมิติอย่างครบถ้วน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯอินเดียในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองราชอาณาจักรสยาม ลาว มลายู และหัวเมืองประเทศราชใกล้เคียง หนังสือพิมพ์ในอินเดียหลายฉบับเสนอรายงานข่าวด้วยความชื่นชมในพระปรีชาสามารถของพระองค์ และแข่งขันกันเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
เรือพระที่นั่งบางกอกและเรือติดตามอีกสองลำ พร้อมเจ้านายและข้าราชบริพารผู้ติดตามจำนวน 52 คน แล่นออกจากปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อ 16 ธันวาคม พ.ศ.2414 เดินทางผ่านช่องแคบมลายู ย้อนขี้นแวะพักที่พม่า 4 วัน จากนั้นตัดข้ามมหาสมุทรอินเดียเข้าเทียบท่า ณ เมืองกัลกัตตา แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังเดลี บอมเบย์ พาราณสี สารนารถ แล้วย้อนกลับมาลงเรือที่กัลกัตตา รวมเวลาประทับแรมที่อินเดียทั้งสิ้น 47 วัน
อินเดียที่ทอดพระเนตรขณะนั้นตกอยู่ใต้อิทธิพลอังกฤษมาแล้วกว่าร้อยปี โดยมีเมืองกัลกัตตาเป็นศูนย์กลางการปกครอง มีทำเนียบของข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการแทนองค์ราชินีอังกฤษตั้งบัญชาการอยู่ที่เมืองนี้ และมีกองกำลังทหารติดอาวุธสมัยใหม่ในสังกัดอังกฤษกระจายอยู่ทั่วประเทศอินเดียรวมทั้งในเขตปกครองอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 200,000 คน
พร้อมกันนั้นอังกฤษได้เริ่มต้นวางรากฐานกิจการสาธารณูปโภคหลายชนิดไว้ที่อินเดียแล้ว เช่น การรถไฟ การขนส่งไปรษณีย์ ระบบโครงข่ายโทรเลข การสร้างถนนและการขุดคลองลัดเชื่อมกับแม่น้ำสายสำคัญๆ รวมถึงการตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ตามแบบแผนตะวันตกอีกหลายแห่ง
ณ เวลาที่ ร.5 เสด็จฯถึง กิจการรถไฟอินเดียเปิดดำเนินการมาแล้ว 16 ปี รวมเส้นทางรถไฟทั่วประเทศขณะนั้นยาวถึง 6,823 ไมล์ พระองค์จึงทรงได้รับประสบการณ์ตรงจากการเสด็จพระราชดำเนินไปตามเมืองสำคัญต่างๆ ของอินเดียด้วยรถไฟเป็นเวลารวมกันกว่า 200 ชั่วโมง
ท่าน ดร.สหายได้ลำดับเรื่องราวตามหมายการเสด็จฯของรัชกาลที่ 5 ไว้ในหนังสือโดยละเอียด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ฉายภาพให้เห็นพระวิริยะอุตสาหะของพระองค์ท่านในการสำรวจสถานการณ์ทุกๆ ด้านในประเทศอินเดียเพื่อนำมาปรับใช้กับสยามประเทศ
ด้านการทหารพระองค์ได้ทอดพระเนตรโรงหล่อปืนใหญ่ คลังสรรพาวุธ เรือรบ และได้เสด็จฯทอดพระเนตรฐานที่ตั้งกองทัพอังกฤษทั่วทั้งประเทศอินเดีย รวมทั้งค่ายการฝึกซ้อมรบที่เดลี ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการจัดระเบียบกองทัพไทยในแบบอย่างตะวันตก
ด้านการเมืองทรงได้เห็นทั้งอดีตอันรุ่งโรจน์และการเสื่อมถอยในพระราชอำนาจของกษัตริย์อินเดีย อย่างกษัตริย์แห่งอโยธยา มหาราชาแห่งพาราณสี และมหาราชาวิเชียรนครัม ตลอดถึงกุศโลบายในการรวมศูนย์อำนาจที่อังกฤษใช้ปกครองอินเดียขณะนั้น
ทรงได้ทอดพระเนตรโรงผลิตน้ำประปา โรงหล่อเหรียญกษาปณ์ อู่ต่อเรือ เรือนจำ พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ ตลอดจนศาสนสถาน และปราสาทราชวังที่สะท้อนอดีตอันรุ่งโรจน์ของอินเดียอีกหลายแห่ง รวมถึงบ่อน้ำอนุสรณ์สถานคอนปอร์ ซึ่งคนอังกฤษถูกชาวพื้นเมืองสังหารหมู่แล้วโยนศพทิ้งลงบ่อน้ำแห่งนี้ จนเป็นเหตุให้อังกฤษใช้กำลังทหารเข้าปกครองอินเดียอย่างเบ็ดเสร็จในเวลาต่อมา
บางเสี้ยวของอินเดียที่เราได้เห็นภายหลังรัชกาลที่ 5 เสด็จฯกว่า 130 ปี ยังเหลือร่องรอยของอารยธรรมอังกฤษให้เห็นอยู่ทั่วไป ทำเนียบรัฐบาล พิพิธภัณฑ์ สำนักงานของบริษัทอินเดียตะวันออก และอาคารพาณิชย์ในยุคนั้นอีกหลายแห่งยังคงแข็งแรงและใช้งานได้ดี รวมทั้งโครงข่ายทางรถไฟอินเดียที่เรามีโอกาสได้รองใช้บริการด้วยความประทับใจ
โดยทรรศนะส่วนตัวอินเดียเป็นเมืองที่ความทันสมัยกับอดีตที่ไม่เคยตายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ บนถนนเรายังจะเห็นฤๅษีชีเปลือย ฝูงวัว รถลาก รถม้า สามล้อ รถราง รถอังกฤษที่เลิกผลิตมาแล้วกว่า 50 ปี หรือรถญี่ปุ่นรุ่นใหม่เอี่ยม อยู่ปะปนกันเต็มถนน
ที่ริมน้ำคงคามหานทีเรายังเห็นชาวฮินดูลงอาบน้ำชำระร่างกายยามเช้า และยังมีการฆ่าแพะบูชาเจ้าแม่กาลี เช่นเมื่อร้อยหรือพันปีที่แล้ว
ที่น่าเศร้าก็แต่พระพุทธศาสนาซึ่งอุบัติขึ้นในชมพูทวีปและเคยมีความยิ่งใหญ่จนแตกสาขาออกไปทั่วเอเชีย กลับเหลืออนุสรณ์สถานให้ระลึกถึงน้อยมาก จนอาจกล่าวได้ว่าจิตวิญญาณความเป็นพุทธได้เลือนหายไปจากอินเดียแล้วก็ว่าได้
หลังเสด็จฯกลับจากอินเดีย รัชกาลที่ 5 ทรงทุ่มเทเวลากับการเร่งปรับปรุงบ้านเมือง และดำเนินวิเทโศบายกับชาติอาณานิคมซึ่งรุมล้อมอยู่รอบบ้านอย่างระมัดระวัง โดยไม่เสด็จฯต่างประเทศอีกเลยถึง 24 ปี
ถึงกระนั้นก็มีเรื่องร้ายเกิดขึ้นกับสยามประเทศจนได้ เมื่อเกิดเหตุกระทบกระทั่งเรื่องชายแดนกับฝรั่งเศสใน ร.ศ.112 จนไทยต้องจำยอมทำสัญญาเสียสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและสิบสองจุไทยให้แก่ฝรั่งเศส และเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าหลวงทรงตรอมตรมพระราชหฤทัยอย่างใหญ่หลวง จนทรงล้มเจ็บประชวรไม่ยอมเสวยพระโอสถ ซึ่งคราวนั้นได้ทรงพระราชนิพนธ์บทกวีขอลาสู่สวรรคต ส่งไปลาเจ้านายพี่น้องใกล้ชิด ดังความตอนหนึ่งว่า…
เจ็บนานจึงหน่ายนิตย์   มะนะเรื่องบำรุงกาย
ส่วนจิตต์บมิสบาย      ศิระกลุ้มอุราตรึง
   แม้หายก็พลันยาก   จะลำบากฤทัยพึง
ตริแต่จะถูกรึง         อุระรัดและอัตรา
กลัวเป็นทวิราช      บตริป้องอยุธยา
เสียเมืองจึงนินทา      บละเว้นฤว่างวาย
คิดใดจะเกี่ยงแก้      ก็บพบซึ่งเงื่อนสาย
สบหน้ามนุษย์อาย      จึงจะอุดและเลยสูญ
จากบทพระราชนิพนธ์นี้จะเห็นว่าพระองค์ทรงรู้สึกสูญเสียมากกว่าราษฎรไทยทั่วไปหลายเท่าพันทวีทั้งๆ ที่ความจริงแล้วการยอมเสียสละดินแดนบางส่วนในคราวนั้นเป็นคุณูปการสำคัญที่ส่งผลให้สยามประเทศยังคงเอกราชไว้ได้จวบจนปัจจุบัน



__________________
Page 1 of 1  sorted by
 
Quick Reply

Please log in to post quick replies.

Tweet this page Post to Digg Post to Del.icio.us


Create your own FREE Forum
Report Abuse
Powered by ActiveBoard