Members Login
Username 
 
Password 
    Remember Me  
Post Info TOPIC: ไทย-อินเดีย : คู่แข่ง-คู่ค้าอัญมณีและเครื่องประดับ


Senior Member

Status: Offline
Posts: 379
Date:
ไทย-อินเดีย : คู่แข่ง-คู่ค้าอัญมณีและเครื่องประดับ
Permalink   


ไทย-อินเดีย : คู่แข่ง-คู่ค้าอัญมณีและเครื่องประดับ…ที่น่าจับตามอง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


การเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอินเดีย คงจะไม่มีผลกระทบนโยบายการบริหารงานของอินเดียมากนัก คาดว่านโยบายการค้าระหว่างประเทศส่วนเปิดเขตการค้าเสรี น่าจะเป็นไปตามแผนเดิมที่รัฐบาลไทยและอินเดีย ลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยการตั้งเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2546
เพราะนายมานโมหัน ซิงห์ (Manmohan Singh) ผู้ก้าวดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นผู้ผลักดันใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจมาตลอด สาระสำคัญร่างกรอบตกลงดังกล่าว ครอบคลุมการเปิดเสรีด้านต่างๆ
ด้านการค้า ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบให้ลดภาษีนำเข้าสินค้าบางส่วนทันที (Early Harvest Scheme) ครอบคลุม 84 รายการ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็น 1 ใน 84 รายการที่จะลดภาษีนำเข้า ตามกรอบตกลงข้างต้น
อัญมณีและเครื่องประดับที่เร่งลดภาษีนำเข้า ประกอบด้วย 4 รายการ คือ พลอยที่ยังไม่ได้เจียระไน (HS 710310) อัญมณีสังเคราะห์ (HS 710490) ฝุ่นและผงของเพชร (HS 710510) และเครื่องประดับแท้ทำด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงิน (HS 711319)
การลดภาษี จะทยอยลดแต่ละปี 50% 75% และ 100% ของอัตราภาษี MFN (Most Favored Nations) เป็นอัตราที่ใช้สำหรับประเทศสมาชิก WTO ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2547 ถึง 1 มีนาคม 2549
แม้ระดับตลาดโลก อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอินเดีย จะเป็นคู่แข่งของไทย ที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากมูลค่าส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของอินเดีย ที่เพิ่มกว่า 100 เท่าภายใน 30 ปี จากมูลค่าส่งออก 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐปี 2511 เพิ่มเป็น 8,878.2 ล้านดอลลาร์ปี 2545 ตามรายงาน Global Trade Atlas
ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 4 ตลาดโลก รองจากเบลเยี่ยม สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร 10 เดือนแรกปี 2546 อินเดียส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับมูลค่า 8,634 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10.74% เทียบช่วงเดียวกันปี 2545
อัญมณีและเครื่องประดับที่สร้างรายได้ให้อินเดียมากที่สุด คือเพชรเจียระไนแล้ว สัดส่วนกว่า 80% ของมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของอินเดียแต่ละปี จนนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางเจียระไน และค้าเพชร สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกปัจจุบัน
ขณะที่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ก็พัฒนารวดเร็วเช่นกันช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอุตสาหกรรมมีบทบาท และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมก่อเกิดจ้างงานจำนวนมาก หรืออุตสาหกรรมก่อเกิดมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการผลิตเครื่องประดับ รายงานกรมเจรจาการค้า ปี 2546 ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับมูลค่า 2,514.9 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15.9%
สินค้าส่งออกสำคัญ คือเครื่องประดับแท้และเพชร สัดส่วนรวมกันไม่ต่ำกว่า 70% ของมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม เครื่องประดับแท้ ส่งออกเพิ่มขึ้น 12%
ไทยยังเป็นประเทศหนึ่งได้รับการยอมรับกว้างขวาง ในฐานะศูนย์กลางเจียระไนอัญมณีสำคัญของโลก โดยเฉพาะการเจียระไนพลอย และหุงพลอย ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกพลอยสำคัญอันดับ 3 ตลาดโลก รองจากฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ยังเป็นแหล่งส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญอันดับ 13 ของโลก
แต่เมื่อพิจารณาการค้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างไทยกับอินเดีย แนวโน้มขยายตัวมากขึ้น รายงานกรมเจรจาการค้า ไตรมาสแรกปี 2547 หลังจากทั้ง 2 รัฐบาลบรรลุการเจรจาระดับนโยบาย ตั้งเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย
รวมถึงนโยบายส่งเสริมการค้ากลุ่มประเทศตลาดใหม่ ที่อินเดียเป็น 1 ในตลาดกลุ่มเป้าหมายของไทย ส่งผลการค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างไทยและอินเดีย กระเตื้องชัดเจนเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปี 2546
ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปอินเดียเพิ่มถึง 182.6% สินค้าที่อินเดียนำเข้าจากไทยมากอันดับ 1 คือพลอย 78% ของมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปอินเดียโดยรวม ตามด้วยเพชรและเครื่องประดับแท้
ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากอินเดียเพิ่มขึ้นเช่นกัน 57.9% เมื่อเทียบไตรมาสแรกปี 2546 อัญมณีและเครื่องประดับที่ไทยนำเข้าจากอินเดียมากที่สุด คือเพชร สูงถึง 91.5% ของมูลค่านำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม
ปี 2546 การค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างไทยกับอินเดียลดลง ทั้งส่วนส่งออกและนำเข้า ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปอินเดียมูลค่า 14.7 ล้านดอลลาร์ ลดลง 32.6% ไทยนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากอินเดียมูลค่า 206 ล้านดอลลาร์ ลดลงเช่นกัน 1.1%
เมื่อการลดหย่อนภาษีนำเข้า ภายใต้กรอบข้อตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย ดำเนินการเป็นรูปธรรม และโครงการสนับสนุนขยายการส่งออกสู่ตลาดใหม่ประสบความสำเร็จ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัญมณีและเครื่องประดับของไทย น่าจะได้เปรียบด้านราคาตลาดอินเดียมากขึ้น จะนำไปสู่โอกาสขยายตลาดอัญมณีและเครื่องประดับไทยตาดอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดที่เศรษฐกิจในประเทศแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และกำลังเป็นตลาดเกิดใหม่ ที่ได้รับความสนใจจากพ่อค้า นักธุรกิจ และนักลงทุนจากต่างประเทศ มากขึ้นตามลำดับ
แม้จะเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอินเดีย แต่เชื่อว่า อินเดียจะยังคงเปิดเขตการค้าเสรีตามแผนเดิม และยึดนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจต่อไป เชื่อว่าไม่เฉพาะอัญมณีและเครื่องประดับ 4 รายการ ที่ลดภาษีนำเข้าเท่านั้น ที่จะมีโอกาสดีขึ้นในอินเดีย
แต่สินค้ารายการอื่นๆ เช่น เครื่องประดับแท้ ก็น่าจะสดใสขึ้นด้วย อินเดีย จึงเป็นตลาดใหญ่ที่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยไม่ควรมองข้าม รวมถึงตลาดเอเชียใต้ ที่ภาพเศรษฐกิจโดยรวม ยังมีโอกาสขยับขยายต่อไปอนาคต เป็นกลุ่มตลาดใหม่ เป้าหมายของไทยปัจจุบันมากขึ้น
โดยอาศัยอินเดียเป็นประตูการค้าเจาะตลาด เพราะอินเดียเป็นประเทศทำการค้าใกล้ชิดประเทศเอเชียใต้ โดยเฉพาะปากีสถาน เป็นเวลานาน ทราบความต้องการสินค้าผู้บริโภคกลุ่มประเทศเอเชียใต้ลึกซึ้งกว่าไทย ทั้งรูปแบบและสีสัน ที่เป็นที่นิยม
กล่าวคือ หากผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยมีโอกาสทำการค้ากับผู้ประกอบการอินเดียมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค้าขายโดยตรง หรือร่วมงานแสดงสินค้าต่อเนื่อง ย่อมส่งผลสินค้ากลุ่มนี้ของไทย เป็นที่รู้จักวงกว้างยิ่งขึ้น ทั้งในอินเดีย และตลาดเอเชียใต้
ขณะเดียวกัน รายงานสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (The Gem and Jewelry Institute of Thailand) เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอินเดีย
อินเดียเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ (เพชรก้อน) ง่ายด้วย เนื่องจากมีตัวแทนการค้าของเดอ เบียร์สตั้งอยู่ในประเทศถึง 41 ราย หรือ 25% ของตัวแทนการค้าทั้งหมดของเดอ เบียร์ส นักธุรกิจอินเดีย ยังเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ ทั้งเพชรและพลอยสีทุกแห่ง และมีความสามารถประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกในประเทศ ที่มีแหล่งวัตถุดิบอย่างดี
จึงน่าจะเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทย รายที่สามารถสร้างสายสัมพันธ์ดีกับนักธุรกิจอินเดีย เพราะเปิดโอกาสเข้าใกล้แหล่งวัตถุดิบมากขึ้น จะนำมาซึ่งการสร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่าเพิ่มขึ้นอนาคต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดีย ประกอบกับการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย ที่ให้ความสำคัญขยายตลาดอัญมณีและเครื่องประดับไทยสู่ตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจริงจัง และต่อเนื่อง และการสนับสนุนภาครัฐ ที่ต้องการยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่น ตามโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น
ย่อมเปิดโอกาสดี ขยายตลาดอัญมณีและเครื่องประดับไทยกว้างขวางยิ่งขึ้นอนาคต ไม่เฉพาะตลาดอินเดียเท่านั้น ยังรวมถึงตลาดเอเชียใต้ และตลาดโลก แต่แผนงานหรือนโยบายต่างๆ ต้องดำเนินไปได้มีประสิทธิภาพ บุคคลากรต้องพัฒนาฝีมือ และติดตามความก้าวหน้าเทคโนโลยีผลิตสม่ำเสมอ
รวมถึงควรร่วมมือกัน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนแสวงหาโอกาสใหม่ๆ การลงทุน และลู่ทางเพิ่มมูลค่าการค้าต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสก้าวสู่ศูนย์กลางค้าพลอยสีและเครื่องประดับใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอนาคต เหมือนดังอินเดียสามารถเป็นศูนย์กลางการเจียระไนและค้าเพชร สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกปัจจุบัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า หากไทยและอินเดียเดินหน้าสานต่อความสัมพันธ์กันทางการค้าต่อเนื่อง ย่อมเป็นคู่ค้าและคู่แข่ง ที่ผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับโลกไม่ควรมองข้าม
เพราะทั้ง 2 ประเทศ ต่างเป็นผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับมีศักยภาพ และเป็นที่ยอมรับกว้างขวางตลาดระดับโลก ที่มีโอกาสก้าวขึ้นมีบทบาทมากขึ้นแน่นอนอนาคต
------------------------------------------------------
ผู้จัดการ 24 พฤษภาคม 2547



__________________
Page 1 of 1  sorted by
 
Quick Reply

Please log in to post quick replies.

Tweet this page Post to Digg Post to Del.icio.us


Create your own FREE Forum
Report Abuse
Powered by ActiveBoard