"เบอร์นาร์ด" คนขายถั่วที่กลายเป็นอีกหนึ่งตำนานของธรรมศาสตร์ แดดสายทอประกายร้อนแรงขึ้น คงจะเป็นเพราะเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ท้องฟ้าจึงใจดี เปิดให้แสงแดดส่องตามคำสัญญาแห่งฤดูกาล วันนี้ก็เหมือนทุกวัน ชายหนวดเฟิ้มออกจากบ้านด้วยความเพลีย หลังนั่งหลับๆ ตื่นๆ อยู่ยามตลอดทั้งคืน เขาเดินออกจากบ้านเล็กๆ แถวปิ่นเกล้าอย่างกระฉับกระเฉงมากขึ้น หลังสลัดความง่วงออกไปได้บางส่วน เมื่อถึงโต๊ะใบน้อยใต้ตึกเก่าๆ หลังหนึ่ง ถั่วถุงที่เตรียมไว้แต่เช้ามืด ถูกหยิบออกมา นี่คือกิจวัตรประจำวันของ เบอนาร์ด ยาโด ชายชรา "คนขายถั่ว" แห่งท่าพระจันทร์ ที่ยังคงดำเนินไปตามปกติเหมือนเมื่อ 37 ปีก่อน... -1- คนทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รู้ว่า เหตุผลเดียวที่จะไม่เห็นเขากับกระบะถั่ว คือต้องไม่สบายหรือเป็นอะไรสักอย่าง ไม่อย่างงั้นอาบังคนนี้ไม่มีทางหยุดงานเป็นแน่ "เบอนาร์ด ยาโด" คนขายถั่วเก่าแก่แห่งท่าพระจันทร์ บอกกับเราว่า ถ้าไม่ทำงานทั้งวันทั้งคืนแบบนี้ ย่อมไม่มีทางหาเงินได้พอใช้ เพราะตัวเองมีลูก 4-5 คน แถมด้วยหลานอีก 12 ... ไม่ว่าอดีตของเขาจะเป็นอย่างไรก็ตาม ดูเหมือนปัจจุบันเครื่องหมายคำถามต่อชายชราคนนี้จะจางหายไปจากความคิดเด็กธรรมศาสตร์รุ่นหลัง เพราะต้องห่างไกลจากบ้านอย่างท่าพระจันทร์มากขึ้น อย่างไรก็ดี ลูกแม่โดมตั้งแต่รหัส 11 ลงมาถึงรหัส 45 ซึ่งมีโอกาสเรียนที่ท่าพระจันทร์ ย่อมรู้ดีถึงตำนานความตื๊อขายถั่วของอาบัง "กินอารายม้ายยย" คือเสียงที่ผู้คนย่านประตูท่าพระจันทร์คุ้นเคย หลายครั้งสมัยเรียน เราพบเขาขณะนั่งอ่านหนังสือเงียบๆ ริมสนามบอลแบบไม่ทันตั้งตัว เพราะกระบะถั่วจะลอยมาวางโครมข้างโต๊ะ พร้อมคำถาม "จะกินอะไร" เล่นเอาเผ่นแทบไม่ทัน เจอหลายคน จนมีคำขวัญรู้กันทั่วว่า สิ่งที่หนีไม่ได้ในธรรมศาสตร์คือเบอนาร์ดขายถั่ว อาบังหลอกหลอนผู้คนในธรรมศาสตร์ได้ดี เพราะใครล่ะจะมีเงินซื้อถั่วแกทุกวัน แต่แกก็ยืนยัน นั่งยัน และนอนยันว่า การกินถั่วมีประโยชน์ต่อร่างกาย (เพราะขายของได้) สำหรับคนธรรมศาสตร์รุ่นเก่า เบอนาร์ดเหมือนคนกันเอง เหมือนสมาชิกครอบครัวเก่าแก่ ที่หนีมาจากแดนไกลเพื่อพึ่งไออุ่นจากชายคาแม่โดม เช่นเดียวกับผู้ทุกข์ยากคนอื่นๆ ที่เดินเข้ามาในอดีต - 2- 11 มีนาคม 2548 สายของวันอากาศอบอ้าวกลางเดือนมีนาคม... วันปิดเทอมปกติก็เงียบเหงาอยู่แล้ว แต่ 3 ปีให้หลังนี้ ยิ่งเงียบเหงาเป็นพิเศษ เมื่อคนส่วนหนึ่งไปเรียนที่รังสิต อาบังชราร่างตุ้ยนุ้ยคนนั้นยังคงนั่งอยู่ที่เดิม "กินไรเปล่า" เสียงทักทายที่คุ้นหูดังขึ้น รอยยิ้มผสมสายตาเชิงวิงวอนถูกส่งมาที่เรา "ทำไม ขายไม่ดีอีกแล้วเหรอ" "ไม่มีคน" เป็นคำตอบจากหลังกระบะถั่ว หน้าตาอย่างเบอนาร์ด คนในสังคมไทยมักเรียกว่า "แขก" และเขาก็ขายถั่ว จึงเป็นแขกตามมุมมองคนไทยโดยสมบูรณ์พร้อม เป็นที่รู้กันว่าที่คนต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มคนอินเดียที่เข้ามาหางานทำและตั้งรกรากในบ้านเรา มีอาชีพยอดฮิตไม่ขายโรตี ก็ขายถั่ว จนหลายคนคิดว่าเป็นอาชีพผูกขาดของชาวภารตะในประเทศไทยไปเรียบร้อย ทำให้นึกถึงคำพูดของผู้รู้เรื่อง "แขก" อย่าง ธีรนันท์ ช่วงพิชิต เขาเคยเล่าในงานเสวนาเรื่อง "ฝรั่ง แขก จีน มอญ หลายชาติหลายภาษาในสังคมสยาม" (จัดโดยร้านหนังสือริมขอบฟ้าร่วมกับสำนักพิมพ์สารคดี) ถึงบทบาท "แขก" ในความหมายชี้เฉพาะไปที่กลุ่มคนจากอินเดียซึ่งเข้ามาในเมืองไทยและไม่ได้นับถือถือศาสนาอิสลามเอาไว้ว่า "...คนอินเดียที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมที่เข้ามา จะทำอย่างแรกคือขายถั่วก่อน เพราะขายถั่วจะรู้จักเศษสตางค์ รู้จักคน โดยเฉพาะประเภทที่มาขอกินฟรีก็มี แล้วยังมีประเภทที่มาเป็นแขกยาม แขกส่งหนังสือพิมพ์ พัฒนามาขายสินค้าเงินผ่อนพร้อมดอกเบี้ย พัฒนาสูงสุดคือเงินกู้ ซึ่งเป็นระบบการต่อรองที่ง่ายกว่าในสังคมปัจจุบัน ซึ่งบางแห่งมีการจัดคนไปข่มขู่คนไม่จ่ายเงิน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมใหม่หลังไอเอ็มเอฟเข้ามาบ้านเรา..." ในหนึ่งวัน เบอนาร์ดก็เหมือนกับคนหาเช้ากินค่ำทั่วไป ที่ต้องเลี้ยงชีวิตด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน เบอนาร์ดเป็นแขกไม่กี่คนในปัจจุบัน ที่ยัง "ขายถั่ว" ในธรรมศาสตร์และย่านท่าพระจันทร์มา 37 ปีเต็ม โดยสืบทอดอาชีพจากพ่อของเขาซึ่งเคยขายถั่วแถบวิทยาลัยนาฏศิลป์มาก่อน วันที่เรานั่งสนทนากับเบอนาร์ด เขาหยิบเอกสารชิ้นหนึ่งให้ดูแทนการอธิบายว่ามาจากไหน เพราะเอาเข้าจริงเบอนาร์ดก็ยังสื่อสารกับคนรอบข้างได้อย่างตะกุกตะกักสำหรับประโยคภาษาไทยยากๆ "สัญชาติอินเดีย เชื้อชาติฮินดู เกิดที่ตำบลโกลักปูร์ จังหวัดบิสตี้ (อินเดียเหนือ)" ในเอกสารระบุ "โฮ้ย 37-38 ปีแล้ว" ภาษาไทยเปื้อนสำเนียงฮินดีหลุดมาอย่างอารมณ์ดี และด้วยช่วงเวลาประกอบกับสถานที่ที่เขาเลือกแอบอิง เบอนาร์ดเลยกลายเป็นพยานในเหตุการณ์สำคัญหลายครั้งโดยปริยาย...ไม่ว่าจะ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา เขามีส่วนร่วมทั้งสิ้น แต่ในฐานะกองเสบียงทางอ้อม เพราะเขาขายถั่ว "ตอนแรกขายของแถวสนามหลวง บางทีก็เดินไปแถวกระทรวงกลาโหม วันไหนเขาเรียนรักษาดินแดน วันนั้นขายดี ตอนนั้นขายถุงละ 50 สตางค์ ถ้าบาทนึงตักได้ตั้ง 12 ช้อน" (ปัจจุบันเบอร์นาร์ดขายถุงละ 10 บาท คิดเป็นถั่ว 5 ช้อนต่อหนึ่งถุง) จนเขาเดินมาเจอเด็กคนหนึ่งถามว่าทำไมไม่เข้าไปขายในมหาวิทยาลัย เขาเลยเล่าให้หนุ่มผมน้อยคนนั้นฟังว่า ที่ถอยออกมาเพราะยามไม่ให้เข้า เด็กหนุ่มใจดีจึงพาอาบังไปพบอาจารย์ ในที่สุดเบอนาร์ดจึงได้รับอนุญาตให้ทำมาหากินในธรรมศาสตร์ โดยเสียค่าที่เดือนละ 50 บาท (หมายเหตุ -ปัจจุบันเดือนละ 200 บาท ปีหนึ่ง 2,400 บาทสำหรับคนแบกของขาย อย่างเบอนาร์ด) แล้วโชคชะตาของเขา ก็ผูกพันกับสถานที่แห่งนี้นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผลจากการเฝ้ายามตอนกลางคืนทำให้เขาม่อยหลับในบางครั้ง แต่ถั่วก็ไม่เคยหาย -3- "ป้าเข้ามาตั้งแต่สติ๊กเกอร์นี่ยังใหม่อยู่เลย" ป้าแก้ว เจ้าของรถเข็นขายน้ำเล่าพร้อมกับชี้สติกเกอร์สีซีดข้างถังแช่น้ำ เป็นการยืนยันว่า คนไม่กี่คนที่เดินขายของในมหาวิทยาลัยปัจจุบัน ล้วนเป็นคนเก่าแก่ผูกพันกับธรรมศาสตร์และชุมชนท่าพระจันทร์มาไม่ต่ำกว่าสิบปี "เบอนาร์ดเขามาขายก่อนป้า นานแล้ว 38 ปีได้" เห็นขายถั่วแบบนี้ ใครจะรู้บ้างว่าเบอร์นาร์ดมาเมืองไทยด้วยเครื่องบิน! "โฮ้ย...สมัยก่อนพันห้าร้อย ไทยอินเตอร์ จริง.. ค่ารถตอนนั้น 50 ตังค์เอง" เขาเล่าขณะที่มือกวักเรียกลูกค้าขาประจำแถวประตูท่าพระจันทร์ ที่พยายามหลบหน้าเพราะโดนอาบังชวนซื้อถั่วทุกวัน "ตอนนี้อายุ 60 ปี ลบด้วย 4" สำเนียงไทยปนฮินดีเอื้อนเอ่ยพร้อมด้วยยิ้มน้อยๆ ชวนหมั่นไส้ ก่อนเฉลยต่อว่ามีเหตุผลบางอย่างเพื่อหนีมาตายเอาดาบหน้าที่เมืองไทย "บังขายแบบนี้มาตลอด เมื่อก่อนขายโรตีสายไหมหรืออะไรสักอย่างเรียกว่า "ใบเยียร์" เหลืองๆ กลมๆ ทอดมาจากบ้าน" คุณลุงขายน้ำเล่า ขณะที่เบอนาร์ดบอกว่าเลิกเพราะโดนห้าม ให้ขายแต่ถั่วเท่านั้น "มาใหม่ๆ ไปอยู่ปิ่นเกล้า อยู่กับพ่อ อยู่กับปู่ อยู่กับยาย โฮ้ย เมื่อก่อนมาเลี้ยงวัวเอานม" เขากล่าวแล้วชี้มาที่คนถามซึ่งทำหน้างงกับอาชีพดั้งเดิม "รุ่นหลังนึกไม่ออกหรอก" ... เขาหมายถึงปิ่นเกล้าเมื่อปี 2511 ในหนึ่งวัน เบอนาร์ดก็เหมือนกับคนหาเช้ากินค่ำทั่วไป ที่ต้องเลี้ยงชีวิตด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน -4- 13 ตุลาคม 2516... ท่ามกลางคลื่นมหาชนล้นหลามบนสนามฟุตบอล มีอาบังขายถั่วคนหนึ่งซึ่งไม่รู้ตัวว่า กำลังอยู่ในเหตุการณ์สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เขาเดินขายของอย่างสบายใจท่ามกลางฝูงชนที่เข้ามารวมตัวต่อต้านเผด็จการ "ถนอม-ประภาส" "โฮ้ย หมดแล้วๆ จะกลับไปเอาอีก" เขาบอกคนรู้จักหลังของขายหมดเกลี้ยง ไม่รวมที่บริจาคถั่วส่วนหนึ่งให้นักศึกษาบางคนซึ่งกินฟรีด้วยความคุ้นเคย เหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงด้วยชัยชนะของประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ...และอาบังก็พบว่าทำเลค้าขายของเขามีผู้คนผ่านไปมามากขึ้น ประกอบกับมีม็อบมาประท้วงบ่อยๆ ลูกค้าบางคนรู้จักเบอนาร์ดมานานนับ 10 ปี สามปีต่อมา... 5 ตุลาคม 2519 อาบังก็พบว่าเขายืนขายถั่ว พร้อมกับแจกถั่วฟรีไปหลายกำ ในการชุมนุมประท้วงขับไล่เณรถนอมที่พยายามลักลอบเข้าประเทศ ณ สนามฟุตบอลแห่งเดิม วันนั้นเขาขายถั่วได้เรียบและกลับบ้านได้เร็ว โดยไม่ทราบว่าย่ำรุ่งของอีกวัน ลูกค้าและคนคุ้นเคยหลายคนต้องจากไปด้วยคมกระสุนของกลุ่มกระทิงแดง วันรุ่งขึ้น เขามาที่สนามหลวงเพื่อนำถั่วมาขายตามปกติ...และพบกับภาพบางอย่างที่เขายังไม่ลืม "เห็นคนสามคนโดนเผา ยังไม่ตายเลยนะ หลังจากนั้น เบอนาร์ดก็ต้องทำงานเป็นยามอย่างเดียวไปหลายเดือน เพราะมหาวิทยาลัยถูกปิดซ่อมแซม ดอกไม้ ที่เด็กบางคนนำมาให้เบอนาร์ด เป็นการหยอกเล่นแสดงถึงความผูกพันระหว่างกัน -5- 37 ปีแล้ว วันนี้กิจวัตรของเบอนาร์ดยังเหมือนสมัยก่อน ช่วงกลางคืนเฝ้ายามให้บริษัทแห่งหนึ่งย่านจรัญสนิทวงศ์จนเกือบรุ่ง กลับมาพักผ่อนช่วงสั้นๆ ที่บ้าน หกโมงเช้าตื่นเพื่อเตรียมตัวออกไปซื้อถั่ว "โฮ้ย...สมัยก่อนทำถั่วเอง สมัยนี้ไม่มีเวลา ลำบาก นี่ไปซื้อพาหุรัด สมัยก่อนกิโลละ 5 บาท ถั่วสีเหลืองนี่ 10 สลึง ตอนนี้กิโลละหลายบาทแล้ว" บทบาทคนขายถั่วเริ่มในช่วงสายเมื่อถั่วถูกจัดใส่กระบะ และทั้งวัน ชายคนนี้จะเทินกระบะใส่หัวบ้างใส่บ่าบ้าง เดินไปขายคนทั่วมหาวิทยาลัย โดยมีรูปแบบจู่โจมให้คนซื้อส่วนมากจำต้องจ่าย ถั่วนานาชนิดในกระบะ ดังนั้น ไม่แปลก ที่ในการเสวนาของนักศึกษาหลายครั้ง จะมีเบอนาร์ดเป็นแขกรับเชิญเอาถั่วมาออกร้านหน้างานเสมอและเสียงทัก "อาบังเป็นไง" เสียง "โอ้ยอิ่ม ไม่เอา" บวกกับเสียง "ขี้เหนียว" หยอกเย้าไปมาระหว่างเบอนาร์ดกับลูกค้าคุ้นเคย จะมีให้ได้ยินตลอดทั้งวันจน 6 โมงเย็น... สายสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายแบบเพื่อนเก่าเช่นนี้ เทียบไม่ได้กับที่เดินเข้าร้านสะดวกซื้อซึ่งพนักงานคอยพูดเหมือนกับหุ่นยนต์ว่า "สวัสดีครับ/ค่ะ" "รับ...เพิ่มไหมคะ" เพราะนั่นคือความสัมพันธ์ที่มีจุดประสงค์เดียวคือเอาเงินออกจากกระเป๋าของเรา แต่ระหว่างนักศึกษา คนธรรมศาสตร์กับเบอนาร์ด มันมีอะไรบางอย่างมากกว่านั้น... ตกเย็น เขาจะเก็บของ เพื่อเตรียมเปลี่ยนบทบาทจาก "แขกขายถั่ว" กลับไปเป็น "แขกยาม" "วันนี้ขายไม่ดี ได้แค่สองร้อย" แกหันมาบ่นกับเรา ก่อนจะเอาถั่วบางส่วนโปรยให้นกพิราบ อีกส่วนเก็บไว้ขายในวันต่อไป แล้วเดินกระย่องกระแย่งเอากระบะไปเก็บในที่ลับตาก่อนจะเร่งฝีเท้าออกไปทางประตูสนามหลวงเพื่อสลับบทบาทกลับไปเป็นยามอีกครั้ง "เขาอยู่คู่ที่นี่มานานแล้ว" เป็นเสียงของใครหลายคนที่รู้จักเบอนาร์ดบอก หลายคนเรียนจบไปเป็นสิบปี วันนี้เมื่อกลับมาก็ยังคงมาทักเบอนาร์ดอย่างคุ้นเคย แม้แต่นักการเมืองอย่างเฮียชูวิทย์(กมลวิศิษฎ์) สมัยลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปีก่อน เมื่อมาเยือนที่นี่ ก็ยังปลีกตัวมาจับไม้จับมือระลึกความหลัง ครั้งเสี่ยอ่างยังเอ๊าะๆ ซึ่งเบอนาร์ดยังเก็บเอามาคุยจนทุกวันนี้ สำหรับเบอนาร์ด นักศึกษาทุกคนเป็นคนดี "นักศึกษาไม่ขโมย...มีครั้งนึงโดนคนอื่นแย่ง ที่นี่แหละ เอาถั่วไปตอนหลับ ใส่กระเป๋า นักศึกษาบอกเบอนาร์ดๆ ถั่วโดนขโมย ทีแรกนึกว่าล้อเล่น ตอนนั้นตามทัน ยามไม่อยู่ เรียกตำรวจด้วย ถั่วหกหมดเลย" แกเล่าพร้อมทำหน้าตาเบ้ๆ "เคยไป(ธรรมศาสตร์) รังสิต 3 ครั้ง วันแรกขายดี ครั้งที่สองขายไม่ได้ ครั้งสามขายได้ 20 บาท ค่ารถ 50" จิ๊กซอว์ของประวัติศาสตร์ชิ้นเล็กๆ นี้จะมีบทบาทต่อไปหรือไม่ ขึ้นกับ "หัวใจรักประชาชน" ของผู้บริหาร บางทีนี่อาจเป็นเหตุผลทำให้เขาไม่คิดจะไปขายที่อื่น ยิ่งท่าพระจันทร์สมัยคึกคักก็ขายดีจนมีการบันทึกสถิติส่วนตัวเอาไว้ว่า "คณะบัญชีขายได้เยอะ (คณะนิติฯ เขาส่ายหน้า) สมัยก่อนคณะบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ขายดีที่สุด ตอนนี้ไม่มีคนแล้ว สมัยก่อนมีร้านค้าริมน้ำ คนเยอะ" เล่าไปเล่ามาดูบังก็อดนึกถึงวันเวลาเก่าๆ ไม่ได้ -6- ปลายเดือนธันวาคม 2547... "ได้ข่าวไหม ว่าเขาจะไล่คนที่เดินขายของออกไป บังก็จะโดนด้วย" เสียงลือลอยมาเข้าหู หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารชุดใหม่ของธรรมศาสตร์ วันนั้น เราเข้าไปทักเบอนาร์ดตามปกติ แต่แกมีสีหน้าไม่สบายใจนัก เพราะช่วงนั้นมีข่าวว่ามหาวิทยาลัยถึงขั้นที่จะไล่ไม่ให้แกขายทั้งๆ ที่สัญญายังไม่หมด "อาจารย์ช่วยพูดกับคนที่เกี่ยวข้องหน่อยได้ไหมครับ" ใครคนหนึ่งถามด้วยความหวังต่ออาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่ง พร้อมกับลากเบอนาร์ดไปยืนข้างๆ "เธอเป็นใคร" สายตาเหยียดๆ มอง "ผู้บริหารชุดใหม่เขาไม่สนใจแล้ว ประวัติส่งประวัติศาสตร์อะไร" แล้วก็เดินไปอีกทางพร้อมกับความไม่ไยดีแต่อย่างใด... คนขายของรายหนึ่งเล่าว่า "เรื่องเกิดหลังจากคนขายบางคนไปมีเรื่องกับผู้บริหารท่านหนึ่งที่เขาเพิ่งมาเป็นหมาดๆ ไปเถียงเขาตอนเขาให้หลบ เลยมีการบอกให้ยกเลิกหมด ไปพูดกับผู้ใหญ่หลายคน เขาก็บอกว่าจะปรึกษาดู ว่าจะทำไง เสร็จแล้วเลยเงียบไปให้ขายต่อ แต่ปีนี้ไม่รู้เขาจะต่อสัญญาให้หรือเปล่า ไม่ได้ตามเรื่อง เรื่องเงียบเลยเงียบไปเลย อธิการบดีก็เงียบ คนรองลงมาต่างคนก็ยอมให้ขายต่อ แต่หมดสัญญาไม่รู้จะทำอย่างไร" "เขาให้เหตุผลว่ามันเกะกะ" ใครบางคนบอกเรา ขณะที่ตัวเบอนาร์ดเองก็บอกด้วยเสียงเศร้าๆ ว่า "ไม่รู้จะไปขายที่ไหน อยู่มาตั้งนาน" ซึ่งก็สอดคล้องกับคำบอกเล่าของคุณป้าขายน้ำที่ทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ที่นี่มานานนับสิบปี อย่าคิดว่านี่เป็นแค่เรื่องของคนขายของคนหนึ่ง แล้วเราไปเกี่ยวข้องอะไรด้วย ? เพราะกรณีเช่นนี้มองให้กว้าง มันเกิดขึ้นกับคนตัวเล็กๆ บ่อยครั้งในสังคมไทย... ที่สังคมทุนนิยมมักมองว่าเราจะทำอย่างไรกับคนพวกนี้ก็ย่อมได้ และน่าเป็นห่วง ถ้ามันจะเกิดขึ้นกับธรรมศาสตร์ ดินแดนที่เคยได้ชื่อว่าเห็นใจผู้ทุกข์ยากมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศที่เต็มไปด้วยคนจนและผู้เดือดร้อน สำหรับเรา...เบอนาร์ด เป็นตัวอย่างของคนต่างชาติ ที่สามารถอาศัยอยู่ในเมืองไทยได้อย่างผสมกลมกลืน เบอนาร์ด เป็นจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ตัวเล็กๆ ที่ยังคงมีชีวิตในสถานที่ๆ เขารัก มีชีวิตและนั่งอยู่ที่นี่ ตั้งแต่คนเดือนตุลาหลายคนยังร่ำเรียน ตั้งแต่คนที่คิดจะไล่เขาไปยังไม่เกิด เรียนผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เคารพ... ก่อนจะให้สัมภาษณ์ตามหน้าหนังสือต่างๆ ว่าท่านเชื่อในหลักนิติรัฐ และความเป็นธรรม ลองหันมาก่อน ลองหันมาพิจารณาเรื่องคนขายของตัวเล็กๆ ในมหาวิทยาลัยที่ไม่ธรรมดาคนนี้ก่อนจะไปทำเรื่องใหญ่ๆ ไหม ซึ่งจะพิสูจน์ว่า ท่านเข้าใจประโยค... "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน" ดีแค่ไหน ************* *สัญญาของเบอนาร์ดจะหมดลงในเดือน พ.ค. นี้ หากไม่ได้รับการต่อสัญญา หนึ่งในประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ที่มีชีวิตคนนี้ คงต้องยุติบทบาทลงไปพร้อมๆ กับการย้ายปริญญาตรีจากท่าพระจันทร์ (ส่วนใหญ่) ไปรังสิตทั้งหมดในปี 2549
ผู้จัดการรายวัน 14 มีนาคม 2548