Members Login
Username 
 
Password 
    Remember Me  
Post Info TOPIC: สุริยะบูชา มหัศจรรย์อินเดียที่พาราณสี


Senior Member

Status: Offline
Posts: 379
Date:
สุริยะบูชา มหัศจรรย์อินเดียที่พาราณสี
Permalink   




-- Edited by Bollywood2Thai at 11:57, 2005-04-10

__________________


Senior Member

Status: Offline
Posts: 379
Date:
RE: พาราณสี
Permalink   


สุริยะบูชา มหัศจรรย์อินเดียที่พาราณสี


        นักเดินทางที่ใฝ่ฝันจะไปเยือนประเทศอินเดียจำเป็นต้องไปให้ถึงเมืองพาราณสี เมืองโบราณศักดิ์สิทธิ์อายุเกิน 2,500 ปี ที่ยังคงมีผู้คนอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง พาราณสียังเป็นศูนย์กลางของศาสนาฮินดูในอินเดีย มีพิธีกรรมอันสัมพันธ์กับแม่น้ำคงคาแนบแน่น และสะท้อน 'ความเป็นอินเดีย' ได้อย่างมหัศจรรย์ ยุวดี มณีกุล พาไปสัมผัสดินแดนแห่งมนตราในบรรยากาศงานบูชาสุริยะเทพ อันเป็นหนึ่งในโครงการทัศนศึกษาอินเดีย จัดโดยมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์



        ทันทีที่พระอาทิตย์ลอยตัวสูงพ้นขอบฝั่งยมโลกเมื่อเวลา 06.20 น. ของวันศุกร์ที่ 31  ตุลาคม พ.ศ.2546 บรรดาชาวอินเดียเรือนแสนที่ตั้งท่ารอคอยวินาทีสำคัญตั้งแต่ก่อนฟ้าสางพากันเปล่งคำสาธุการอย่างพร้อมเพรียง พวกเขาชูแขนสองข้างขึ้นสูงพ้นศีรษะ สายตาจับจ้องไปที่สีส้มสดดวงนั้นเต็มศรัทธา


        นี่คือที่สุดของที่สุดแห่งพิธีกรรม Chach Pucha หรือสุริยะบูชา ณ ท่าน้ำริมฝั่งคงคา เมืองพาราณสี เมืองเดียวที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ไหลย้อนขึ้นทิศเหนือ


        ก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน พิธีสุริยะบูชาเริ่มต้นยามอาทิตย์ลับขอบโลกที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ชาวฮินดูเชื่อว่าในรอบ 1 ปี พวกเขาจะต้องแสดงความขอบคุณเทพเจ้าแห่งแสงสว่าง ทั้งยามอัสดงและยามอรุณ


     ทุกครอบครัวมุ่งหน้าไปที่ริมฝั่งน้ำ แต่ละคนถือเครื่องเซ่นไหว้จำพวกดอกชบา น้ำนม ธูป เทียนในกระทงใบน้อย บางคนถือกาบกล้วยมาด้วย หญิงสาวในครอบครัวที่ถูกเลือกให้เป็นตัวแทนนุ่งห่มส่าหรีสีแดงสดสวยงาม เธอจะลงไปแช่ในน้ำประมาณครึ่งตัว เพื่อรอรับเครื่องเซ่นไหว้จากสมาชิกสู่สุริยะเทพจนครบคน บนฝั่งน้ำมีปะรำพิธีของเจ้าหน้าที่ผู้จัดงาน เสียงรัวกลองและกลิ่นกำยานอวลไปทั่วบริเวณ เช่นเดียวกับเสียงประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงของเจ้าหน้าที่ก้องเป็นระยะๆ


       เวลา 05.40 น. เรือแจวลำใหญ่ พร้อมคนเรือ 2 ชีวิต พาคณะผู้สังเกตการณ์กว่า 30 คน ล่องทวนแม่น้ำคงคาอย่างเนิบช้า จากท่าน้ำหนึ่งสู่ท่าน้ำหนึ่ง


     ตลอดริมฝั่งน้ำแออัดไปด้วยฝูงชนชาวอินเดีย เจ้าหน้าที่เตรียมทำลำไม้ไผ่ปักเป็นเสาสูงเรียงรายตลอดฝั่ง เกือบสุดยอดของลำไม้แขวนตะกร้าเล็กๆ ในนั้นบรรจุโคมประทีปที่ให้แสงสว่างพอควร


     อ.ทรงยศ แววหงษ์ แห่งคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในวิทยากรประจำคณะ ให้ข้อมูลว่าท่าเรือหรือฆาต (Ghat) ที่คณะผู้สังเกตการณ์มาลงเรือนั้นเป็นท่าน้ำสำคัญชื่อ 'ทศอัศวเมศ' ดร.ราเชน ทรปราสาท บุคคลสำคัญในพาราณสีเคยทำพิธีบูชาม้า 10 ตัว ที่นี่


     ไม่ไกลกันนักปรากฏอาคารสีน้ำตาล 2 ระดับ ชั้นบนได้รับการต่อเติมในศตวรรษที่ 16 โดยกษัตริย์จากเมืองชัยปุระ ลักษณะเฉลียงยื่นจากหน้าต่างสำหรับเป็นจุดนั่งชมทิวทัศน์ กลายเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมเรียกว่าสถาปัตยกรรมชัยปุระ หรืออุทัยปุระ


     เรือล่องผ่านหน้าอาคารสีฟ้าแดง ที่นี่เป็นบ้านของคนทำศพผู้มาจากวรรณะต่ำสุดคือจัณฑาล เขาเป็นชาวจัณฑาลที่ร่ำรวยด้วยอาชีพนี้ ชาวฮินดูถือว่าคนทำศพเป็นอาชีพชั้นต่ำ แต่ตัวอย่างของเศรษฐีจัณฑาลเจ้าของคฤหาสน์ริมคงคาอาจทำให้หลายคนเริ่มคิดว่าเงินน่าจะเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ของชาวพาราณสีในไม่ช้า


     "ปกติการไหว้แม่น้ำคงคาจะต้องผ่านพราหมณ์ซึ่งจะนั่งประกอบพิธีใต้ฉัตร แต่วันนี้เป็นวันพิเศษ ทุกคนสามารถอาบน้ำได้หมดโดยไม่ต้องมีพราหมณ์ เป็นวันมหัศจรรย์อินเดียจริงๆ" เสียง อ.ทรงยศ แว่วมา ระหว่างนั้นคนเรือจุดประทีปในกระทงใบน้อยให้คนต่างถิ่นปล่อยลงสู่แม่น้ำเพื่อลอยเคราะห์


     อ.ทรงยศ ชี้ชมอาคารเก่าแก่ริมน้ำอีกหลังหนึ่ง อายุราวศตวรรษที่ 18 เดิมเคยเป็นพระตำหนักของมหาราณีพระนาม Indore ราณีองค์นี้มีตัวตนในประวัติศาสตร์อินเดียในฐานะหญิงผู้ปฏิเสธอำนาจของอังกฤษ พระองค์ยังเป็นผู้ที่ถวายทองคำหนัก 800 กิโลกรัม สำหรับสร้างยอดปราสาทวัดวิศวนารถแห่งใหม่ หลังจากโบสถ์หลังเดิมที่มีศิวลึงค์องค์สำคัญในบรรดาศิวลึงค์ทั้งหมด 12 องค์ในอินเดีย ถูกทำลายโดยกษัตริย์โอรังเซ็ป (Auranzeb) แห่งราชวงศ์โมกุลในศตวรรษที่ 16 แล้วสถาปนาศาสนาอิสลามแทนที่ โบสถ์ฮินดูถูกเปลี่ยนเป็นสุเหร่าโอรังเซ็ปจนถึงทุกวันนี้ โดยมีวัดวิศวนารถสร้างใหม่อยู่ไม่ไกลกัน


     อย่างไรก็ตาม องค์ศิวลึงค์ถูกนำไปเก็บซ่อนให้พ้นภัยในบ่อน้ำ ครั้นการสร้างวิหารทองคำแล้วเสร็จ จึงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในวิหารใหม่จนถึงทุกวันนี้


      เรือล่องผ่านท่าน้ำต่างๆ จนถึงอาคารลักษณะหอคอยริมน้ำแห่งหนึ่ง บริเวณฐานเสามีรอยสลักคำอ่านได้ว่า


            ...โอม ชินะ ศิวะ นะโม...


     เมื่อผ่านจุดนี้จะถึงท่าเผาศพแห่งหนึ่ง คนเรือเตือนล่วงหน้าแล้วว่าห้ามถ่ายภาพ ท่าน้ำเผาศพดูขะมุกขะมอม ไม้ฟืนกองเป็นมัดๆ ตามขั้นบันไดปูนสีซีด และยังกองเต็มลำเรือใกล้ๆ คราบเขม่าจับเกาะผนังอาคารโดยรอบ หากภาพของผู้คนในชุดส่าหรีและชุดบาบูสีสดเมื่อสักครู่คือความมีชีวิตชีวา ภาพเบื้องหน้านี้ก็คือขั้วตรงข้าม มันเป็นภาพแห่งความตาย...ความตายที่จะนำดวงวิญญาณไปสู่สรวงสวรรค์


    ผิดแต่ว่าวันนี้ไม่มีการเผาศพเช่นปกติ เพราะชาวพาราณสีมุ่งใจในพิธีสุริยะบูชา


     "พวกเราโชคดีมากที่ได้ร่วมในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์นี้ นี่เป็นพิธีที่เป็นอินเดียแท้ๆ ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสเพราะชาวอินเดียจะทำพิธีนี้เพียงปีละหนเท่านั้น" ดร.คริส เบเกอร์ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้มีประสบการณ์ทำงานวิจัยในดินแดนภารตะนานหลายปี เอ่ยขึ้นหลังจากดวงตะวันเริ่มลอยตัวสูง


     อ.คริส เล่าถึงเครื่องบูชาในพิธีว่าไม่ต่างจากพิธีอื่นๆ นั่นคือใช้ดอกชบา ธงแดง เทียน มะพร้าว ผู้หญิงในครอบครัวหนึ่งๆ จะเป็นตัวแทนลงไปแช่ในน้ำ หญิงผู้นั้นจะสวมชุดส่าหรีสีแดงสดสวยงาม คนอื่นๆ คอยรินน้ำนมใส่มะพร้าว หญิงสาวรับแล้วหมุนตัวในน้ำ 1 รอบ จากนั้นรับน้ำนมจากสมาชิกคนอื่นๆ ต่อ แล้วจึงขึ้นจุดโคมเทียน


     "ผู้หญิงเป็นคนสำคัญของพิธี พวกเธอจะต้องอดอาหาร 48 ชั่วโมง เพื่อทำตัวให้บริสุทธิ์ เพราะผู้หญิงต้องบริบาลปกปกรักษาเด็กๆ เธอจะต้องอุทิศตัวเองเพื่อลูก พิธีไหว้พระอาทิตย์ขึ้นถือเป็นวันพิเศษ ชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นการผลัดปี เพราะพระอาทิตย์ได้ขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบปี"


     ศาสนาฮินดูถือว่าเมืองพาราณสีหรือวาราณสี เป็นเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด คนอินเดียเชื่อว่าครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องมาเยือนเมืองเก่าแก่แห่งนี้ บางคนยังปักใจว่าเขาจะมาตายที่นี่


     มาร์ค ทเวน นักเขียนหนังสือต้องห้ามชาวอเมริกันที่มีอายุอยู่ในศตวรรษก่อน เคยพรรณนาถึงเมืองนี้ว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในบรรดาเมืองศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เก่าแก่ยิ่งกว่าประวัติศาสตร์ เก่าแก่ยิ่งกว่าขนบประเพณี เก่าแก่กว่าแม้กระทั่งตำนาน จะว่าไปแล้วมันอาจเก่าแก่พอๆ กับนำประวัติศาสตร์ ประเพณีและตำนานมารวมกัน


      ตามประวัติการก่อตั้งเมือง ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าพาราณสีเกิดขึ้นเมื่อใด สมัยพุทธกาลซึ่งขณะนั้นชมพูทวีปยังแยกกันเป็นรัฐอิสระ มีทั้งสิ้น 16 นครรัฐ พาราณสีปรากฏตัวขึ้นในฐานะเมืองหลวงของแคว้นกาสี ซึ่งเป็น 1 ใน 16 นครรัฐ เท่ากับว่าพาราณสีมีอายุมากกว่า 2,500 ปี และเป็นนครเก่าแก่ที่สุดในโลกเพียงแห่งเดียวที่ไม่เคยร้างผู้คน


       นามพาราณสีเกิดจากแม่น้ำ 2 สาย คือวรุณ หรือ พรุณ กับอสี ซึ่งตั้งขนาบอยู่ 2 ข้างของเมือง ตัวเมืองตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกหรือฝั่งขวาของแม่น้ำคงคา ส่วนฝั่งทางทิศตะวันออกไม่มีผู้คนอาศัย ด้วยเชื่อกันว่าเป็นฝั่งยมโลก


      ในสมัยพุทธกาล พาราณสีไม่ได้เป็นเมืองใหญ่และสำคัญเฉกเช่น ราชคฤห์ หรือสาวัตถี พาราณสีคงเป็นเพียงรัฐเล็กๆ ในบางครั้งก็ตกเป็นเมืองขึ้นของราชคฤห์ แต่เมืองนี้มีชื่อเสียงในเรื่องผ้าไหม มีการกล่าวถึงผ้าไหมกาสีบ่อยครั้งในพุทธชาดก แม้ในปัจจุบันเมืองนี้ยังขึ้นชื่อในเรื่องผ้าไหมที่สวยงามและมีคุณภาพสูง


        ชาวฮินดูเชื่อว่าเมืองพาราณสีเป็นเมืองของพระศิวะ วิหารวิศวนารถซึ่งเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ของเมืองเป็นประจักษ์พยานความเชื่อดังกล่าว ด้วยเหตุนี้แม่น้ำคงคาที่ไหลผ่านเมืองพาราณสีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชาวฮินดู


        คงคามหานที (Ganges River) เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูมากว่า 5,000 ปี โดยเฉพาะสายน้ำช่วงที่ไหลผ่านเมืองพาราณสีนั้นจะมีผู้แสวงบุญชาวฮินดูกว่าแสนคนมาอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อชำระร่างกาย ล้างบาป และสวดมนต์ภาวนาที่ท่าน้ำ ตลอดความยาวกว่า 7 กิโลเมตร ในแต่ละปีจะมีผู้แสวงบุญนับล้านคนเดินทางมาจาริกที่นี่ บางคนเก็บน้ำคงคากลับไปบูชาอีกด้วย


        ศาสนสถานต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายตามสองฟากฝั่งแม่น้ำคงคาจะต้องมีบันไดเพื่อนำทางลงไปสู่แม่น้ำ ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือผู้พิการทุพพลภาพบางคนมาที่นี่เพราะมีความหวังว่าการได้สัมผัสดื่มกินน้ำในแม่น้ำคงคาจะสามารถหายจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่มีบางคนมาที่นี่เพื่อรอความตาย พวกเขาเชื่อว่าผู้ที่ตายในแม่น้ำคงคาจะสามารถเดินทางไปสู่สรวงสวรรค์ได้


      ริมฝั่งแม่น้ำคงคาในเมืองพาราณสีจึงเต็มไปด้วยโรงแรมรอตายหรือโรงแรมมรณา เพื่อให้ชาวฮินดูเดินทางไปสู่สวรรค์ได้ทันท่วงที


       อ.ทรงยศ เล่าความศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำสายนี้ว่า


        "คงคาเป็นแม่น้ำบนสวรรค์ เป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระศิวะ ไหลผ่านมวยผมของพระองค์ ครั้งหนึ่งท้าวทศรถซึ่งบำเพ็ญตบะด้วยการยืนขาเดียวได้อธิษฐานถึงพระศิวะว่าต้องการให้เจ้าแม่คงคาลงมาสู่มนุษย์เพื่อความอุดมสมบูรณ์ พระแม่คงคาทราบดังนั้นบังเกิดความโกรธทุ่มตัวลงมาให้ท่วมโลก แต่พระศิวะทรงเมตตาใช้พระเกศาเส้นหนึ่งช้อนเจ้าแม่ไว้ แล้วไหลเวียนสู่โลกมนุษย์ จนเจ้าแม่ใจเย็นลง ดังนั้นเหตุผลความศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำมี 3 ประการ คือ แม่คงคาไหลบนสวรรค์ ได้ถูกองค์พระศิวะแล้ว และไหลสู่สวรรค์อีกครั้งหนึ่ง"


         สมัยที่ชาวมุสลิมแผ่อิทธิพลมาที่นี่ พวกเขาเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น 'มะหะหมัดบาด' แต่ก็ไม่มีใครเรียก ครั้นอังกฤษเข้ามาปกครองสมัยอาณานิคมได้เรียกเมืองนี้ว่าเบนาเรส (Benares) แต่ในที่สุดพาราณสีก็ยังคงเป็นพาราณสีเช่นเดิม เช่นเดียวกับความเชื่อของชาวฮินดูที่ไม่เคยเสื่อมคลาย


       พาราณสีในปัจจุบันจึงได้ชื่อว่าเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพอดีตของประเทศอินเดียได้เป็นอย่างดี


         ในหนังสือ 'FESTIVALS OF INDIA' เขียนโดย ไลลา โกช และดาเลีย รอย บรรยายเกี่ยวกับงานพิธีกรรมและประเพณีไว้โดยสังเขป ส่วนใหญ่เป็นการบรรยายประกอบภาพ ชาวอินเดียเรียกงานเทศกาลทั้งหลายว่า Ustav ซึ่งเป็นแก่นของวิถีชีวิตพวกเขา ปีหนึ่งๆ จะมีงานเทศกาลของศาสนาต่างๆ ทั้งฮินดู อิสลาม ซิกข์ คริสต์ พุทธ รวมถึง 13 งาน ทุกชนชั้นเข้าร่วมได้เสมอกัน ในบางศาสนาอาจมีงานเทศกาลประเภท 3 ปีต่อครั้งอีกด้วย


       หนังสือ 'BANARAS (SARNATH)' เรียกชื่อพาราณสีด้วยชื่อโบราณว่า 'กาสี' เนื้อหาเน้นพรรณนาลักษณะเมืองที่คงอดีตกาลอย่างครบถ้วน ผู้คนจะเดินจากถนนเส้นเล็กๆ เข้าสู่ตรอกแคบๆ เรียกว่า Gali ไปสู่แม่น้ำคงคา ตรอกสำคัญที่สุดในเมืองคือตรอกวิศวนารถ เชื่อมระหว่างท่าน้ำราชกับท่าน้ำอัสสีด้วยระยะทางเพียง 500 เมตร ตรอกนี้เป็นที่ตั้งของวัดทองวิศวนารถ และสุเหร่าโอรังเซ็ป


       กล่าวเฉพาะงานเทศกาลของชาวฮินดูในเมืองศักดิ์สิทธิ์อย่างพาราณสีนั้น ธีรภาพ โลหิตกุล นักเดินทางแห่งอุษาคเนย์และนักเขียนสารคดี เล่าว่ามีพิธีกรรมสำคัญในรอบปี 7 พิธี ได้แก่ ทุรคาบูชา (ประมาณเดือนตุลาคม) เป็นพิธีบูชาพระชายาพระศิวะในภาคดุร้ายที่ชื่อเจ้าแม่ทุรคา พิธีนี้จัดนาน 10 วัน วันสุดท้ายจะมีการบูชาเทพเจ้าแฝด หัวเป็นม้า ชื่อนุกุล และสหเทพ ต่อด้วยพิธีบูชาสุริยะเทพ (6 วันหลังจากทุรคาบูชา)


       จากนั้นจะมีพิธีลักษมีบูชา (ธีปบูชา) เป็นการบูชาด้วยการจุดประทีปหรือเทศกาลจุดประทีป เชื่อว่าพระลักษมีจะประทับอยู่ในน้ำมันในประทีป ชาวอินเดียจะนำขี้วัวผสมสีส้มนำไปเขียนเป็นวงกลมหน้าบ้าน พวกเขาใช้เท้าจุ่มขี้วัวผสมสีแล้วลากเป็นเส้นจากหน้าบ้านไปถึงตู้เก็บทรัพย์สมบัติในบ้าน


       พิธีบีปาวลีบูชา (Beepavali) เป็นการเฉลิมฉลองที่พระรามปราบทศกัณฐ์ได้ จะทำพิธีบูชา 2 วันในช่วงเดือนตุลาคม


      พิธี Deva Dipavali จัดในช่วงพระจันทร์เต็มดวง ประมาณเดือนพฤศจิกายน อันเป็นฤดูน้ำหลาก อาจเรียกว่างานลอยกระทง


      พิธีบูชาพระศิวะ ราวเดือนกุมภาพันธ์ เชื่อว่าเป็นช่วงที่พระศิวะจะเสด็จมายังโลกมนุษย์


      พิธี Holi จัดในเดือนมีนาคม ประหนึ่งพิธีส่งปีเก่ารับปีใหม่ ชาวอินเดียจะนำพรมสีแดงใส่ลงน้ำเชื่อว่าเมื่อตายไปจะได้ไปสวรรค์


        ดร.คริส วิเคราะห์ว่าความพิเศษของศาสนาฮินดูคือการไม่มีศาสดา ชาวฮินดูจึงมีความเชื่อร่วมกันเกี่ยวกับเทพ และขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่นที่มีความเชื่อดั้งเดิมของตัวเอง ทำให้ศาสนาฮินดูมีความหลากหลายสามารถตอบสนองจิตใจของคนท้องถิ่นได้ดี


          และนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ศาสนาฮินดูคงอยู่อย่างมั่นคงในดินแดนศักดิ์สิทธิ์นี้


        - 07.00 น. ขบวนแห่ของผู้แสวงบุญทยอยเดินขึ้นจากท่าน้ำผ่านตรอกเล็กๆ ออกสู่ถนนพาราณสี พวกเขาเปล่งเสียง "โควิน โคปาล หะริ" ไปตลอดทางระหว่างนั้นชาวบ้านจะร่วมทำบุญด้วยการคล้องพวงมาลัยเป็นระยะ


         ในตรอกกาลิ มีชาวบ้านตั้งกระทะขายขนมปุรี (Puri) ทอดร้อน ลักษณะเป็นแป้งโรตีใส่ผงเครื่องเทศกับน้ำแกงรสเผ็ดปานกลางใส่ในกระทง ขายชุดละ 10 บาท ใครบางคนตั้งข้อสังเกตว่าเริ่มเห็นภาชนะโฟมบ้างแล้วในเมืองเก่าแก่นี้


        พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ เขียนในหนังสือ 'ของดีในอินเดีย' ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 เกี่ยวกับเมืองพาราณสีว่า พาราณสีเป็นอินเดียแท้ ใครมาอินเดียแล้วไม่เห็นพาราณสีก็เท่ากับว่าไม่เห็นอินเดีย


       พาราณสีได้รับความกระทบกระเทือนจากการรุกรานและการปกครองของอิสลามน้อยที่สุด อิสลามรุกเข้ามาถึงพาราณสีตั้งแต่สมัยมะหะหมัดโคร์ ใน พ.ศ.1736 ซึ่งเป็นยุคแรกที่อิสลามได้อำนาจในอินเดีย กษัตริย์วงศ์โมกุลได้พยายามเสด็จมาพาราณสี แต่ความพยายามทุกอย่างไร้ผล พาราณสีคงเป็นเมืองฮินดูแท้อยู่เสมอ


      หลวงวิจิตรวาทการแทงความเห็นว่าพาราณสีเป็นเมืองสำหรับตาย ไม่ใช่เมืองสำหรับอยู่ เหล่าราชา มหาราชา และเศรษฐีทั้งหลายสร้างตำหนัก สร้างคฤหาสน์ริมน้ำคงคามากมายเพียงเพื่อย้ายมาเวลาที่พวกเขาเจ็บป่วยอาการหนักหรือเวลาใกล้ตาย


      เกี่ยวกับท่าน้ำเผาศพนั้น อ.ทรงยศ เล่าว่าท่ามณีกรรณิกาถือเป็นท่าน้ำที่คนนิยม ชื่อนี้มีความหมายว่าต่างหูมณี ตามตำนานกล่าวกันว่าพระอุมาพระมเหสีของพระศิวะทำต่างหูตกน้ำ พระศิวะทรงใช้สามง่ามควานหา จนทำให้เกิดร่องน้ำบริเวณนั้น


        "ถ้าคนรวยเขาจะเผาศพด้วยไม้จันทน์ แล้วเผาจนเป็นขี้เถ้า เอาเถ้านิดเดียวลอยน้ำแทนการลอยศพแบบในอดีต เพราะปัจจุบันมีกฎหมายระบุว่าไม่อนุญาตให้เผาศพหญิงพรหมจรรย์ เด็กเล็ก คนที่เป็นโรค เคยมีนักวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์น้ำในแม่น้ำคงคาปรากฏว่าน้ำไม่เสียเนื่องจากมีความเป็นด่าง แต่ล่าสุดมลภาวะอื่นๆ ทำให้แม่น้ำมีปัญหา รัฐบาลจึงเริ่มไม่อนุญาตให้นำศพลง" อ.ทรงยศ กล่าวตอนหนึ่ง


         รถนักเรียนลักษณะเหมือนรถตุ๊กตุ๊กบ้านเราแล่นผ่านถนนไป เด็กๆ ยิ้มร่าโบกมือทักทาย วิถีชีวิตประจำวันเริ่มต้นอีกครั้ง พร้อมๆ กับขยะมูลฝอยและฝุ่นควันที่ทำหน้าที่ประดับเมืองพาราณสีเช่นปกติ ในบรรดาสิ่งแสดงความเป็นฮินดูประการหนึ่งนั้น ได้แก่ วัว หรือพระโคสัตว์ศักดิ์สิทธิ์พาหนะของพระศิวะ ในอินเดียจึงปรากฏวัวเดินเพ่นพ่านตามถนน


      ดร.คริส วิเคราะห์ว่าวัวยังถูกใช้ในนัยทางการเมือง เรียกว่า 'Cow Belt' อันเป็นกระบวนการสร้างความเป็นอินเดียด้วยสัญลักษณ์ความเป็นฮินดู เพราะแต่เดิมคำว่าฮินด์ถือเป็นชื่อประเทศอินเดียด้วย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ วิทยากรหลักของคณะแปลชื่อทฤษฎีนี้ว่า 'โคคาดเชือก'


       ทฤษฎีโคคาดเชือกมีความหมายว่าศาสนาฮินดูมีความสำคัญยิ่งสำหรับอินเดีย สามารถรัดร้อย ยึดโยง มีพลังสืบสานมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านสัญลักษณ์สำคัญคือวัว นอกจากนี้โคคาดเชือกยังสามารถใช้อธิบายไปถึงประเด็นทางการเมือง เนื่องจากผู้นำพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดของอินเดียขณะนี้เป็นชาวฮินดูจากพาราณสี การที่วัวได้รับสิทธิพิเศษบนท้องถนนโดยมีหลักประกันความปลอดภัยว่าหากผู้ใดขับหรือขี่รถชนวัวถือมีความผิดรุนแรงกว่าชนคนด้วยกัน เป็นการยืนยันความเป็นฮินดูในระดับชาติ


       วัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่คงความหมายในปัจจุบัน ประกาศให้รู้ว่าดินแดนแห่งนี้มีความพิเศษเพราะเป็นศูนย์กลางของฮินดู


      วัวสีดำขนาดเขื่อง 3 ตัว เดินเนิบนาบกลางถนน บางตัวหยุดนิ่งนานเพื่อปล่อยของเสียเต็มพื้นถนน วัวสีน้ำตาลผอมโซบางตัวยืนคุ้ยหาเศษอาหารจากกองขยะ คนปั่นรถถีบต้องคอยหลบมูลวัวและกองขยะ คนลากรถวิ่งผ่านเศษซากเหล่านี้ไปได้แต่ล้อรถคู่หลังไม่อาจหลีกพ้น เสียงบีบแตรจากรถเล็กรถใหญ่ดังลั่นตลอดเวลา ชาวอินเดียถือว่าการบีบแตรเป็นการแสดงมารยาทอย่างหนึ่ง


    ชาวอินเดียส่วนใหญ่มุ่งหน้าสู่โบสถ์ฮินดูเพื่อสวดมนต์ เหลือแต่คนยากไร้และคนชราจำนวนหนึ่งค่อยๆ เดินออกจากหลืบกาลิเพื่อชำระล้างร่างกายในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์...ภายใต้ไออุ่นแห่งสุริยะเทพ





  จาก        ศาสนาและจิตวิญญาณ .../ www.rakbankerd.com   


-- Edited by Bollywood2Thai at 00:58, 2005-11-24

__________________
Page 1 of 1  sorted by
 
Quick Reply

Please log in to post quick replies.

Tweet this page Post to Digg Post to Del.icio.us


Create your own FREE Forum
Report Abuse
Powered by ActiveBoard