Members Login
Username 
 
Password 
    Remember Me  
Post Info TOPIC: ชีวิตและผลงานของสัตยาจิต เรย์


Senior Member

Status: Offline
Posts: 379
Date:
ชีวิตและผลงานของสัตยาจิต เรย์
Permalink   


 



         ในบรรดาผู้กำกับหนังชาวเอเชียที่โลกตะวันตกยกย่องคารวะ นอกเหนือจากอากิระ คุโรซาวาจากญี่ปุ่นแล้ว สัตยาจิต เรย์จากอินเดียก็เป็นบรมครูอีกรายที่โดดเด่นเคียงคู่กัน
        อย่างไรก็ตาม แม้ศักดิ์ศรีและบารมีของสองยอดผู้กำกับจะเท่าเทียมกัน แต่ในแง่ของการเป็นที่รู้จักในวงกว้างแล้ว นักดูหนังส่วนใหญ่คุ้นเคยกับเรื่องราวประวัติชีวิตของคุโรซาวาและมีโอกาสได้ดูหนังของเขามากกว่า ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวสัตยาจิต เรย์และหนังของเขา กลับ "หาดูยาก" และไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก
      
        เรื่องนี้พิสูจน์ยืนยันได้จากครั้งหนึ่งของงานแจกรางวัลออสการ์ ซึ่งมีการมอบรางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จชั่วชีวิตให้แก่สัตยาจิต เรย์ ทีมงานผู้รับผิดชอบทำหน้าที่ตัดต่อภาพ VTR ฉายประกอบในงาน ต้องประสบอุปสรรคยุ่งยากอย่างนึกไม่ถึง นั่นคือ ไม่สามารถหาฟิล์มหนังเรื่องสำคัญ ๆ ของสัตยาจิต เรย์ เนื่องด้วยพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ในอเมริกาไม่มีผลงานเหล่านี้เก็บรักษาไว้เลย จนต้องอาศัยการหยิบยืมจากนอกประเทศทางฟากฝั่งยุโรป ซึ่งก็ช่วยให้งานที่ออกมาแค่เพียงผ่านพ้นเอาตัวรอด และไม่สมบูรณ์อย่างที่ตั้งเป้าเอาไว้แต่แรก
      
        ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังของสัตยาจิต เรย์ ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนั้น สืบเนื่องมาจากแนวทางในการทำหนังของเขาไม่ถูกรสนิยมและไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนอเมริกัน (แตกต่างจากงานของคุโรซาว่า ซึ่งนำเอารูปแบบทางศิลปะในหนังอเมริกันของผู้กำกับรุ่นก่อน ๆ อย่างจอห์น ฟอร์ด มาพัฒนาดัดแปลงใหม่จนบรรลุถึงขีดขั้นสุดยอด ทำให้ "เข้าถึง" ง่ายกว่า และอิทธิพลทางด้านสื่อในอเมริกา ก็ส่งผลโยงใยให้ชื่อและผลงานของคุโรซาว่าแพร่กระจายเป็นที่รู้จักของชาวโลกได้อย่างทั่วถึงยิ่งกว่า)
      
        ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้นี่เอง ผมจึงตื่นเต้นดีใจมากเป็นพิเศษเมื่อไปเจอะเจอหนังสือชื่อ "สุนทรียนิเทศศาสตร์:การศึกษาสื่อสารการแสดงและสื่อจินตคดี" ซึ่งเป็นงานในเชิงวิชาการ มีทั้งการถอดเทปวงเสวนาในหมู่ผู้รู้แวดวงต่าง ๆ รวมถึงบทความที่น่าสนใจในหลากหลายหัวข้อ เช่น "ลิเก:สุนทรียนิยมแห่งการแสดงไทย", "งิ้วจีนสัญชาติไทย:สุนทรียรูปข้ามแผ่นดิน" (ทั้งสองเรื่องนี้ ผมยังไม่มีเวลาอ่าน) และที่ตรงกับความอยากรู้ของผมมากสุดก็คือ บทความชื่อ "ชีวทัศน์และสุนทรียทัศน์ในภาพยนตร์ของสัตยาจิต เรย์" โดยอาจารย์จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานเขียนในพากย์ภาษาไทยเกี่ยวกับคนทำหนังชั้นครูของอินเดียท่านนี้ ที่มีเนื้อหาสมบูรณ์ครอบคลุมครบถ้วนรอบด้านและมีความละเอียดลออมากสุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา
      
        กล่าวคือ บทความชิ้นนี้พูดถึงภาพรวมคร่าว ๆ ของวงการหนังอินเดีย ประวัติชีวิตความเป็นมาตั้งแต่วัยเด็กจนเติบใหญ่ของสัตยาจิต เรย์และผลงานที่เขากำกับ ตลอดจนการค้นหาจุดร่วมเชื่อมโยงในหนังแต่ละเรื่อง รวมถึงการสรุปทางด้านเนื้อหาสาระและรูปแบบทางศิลปะ (แถมท้ายด้วยข้อมูลและเรื่องย่อหนังของสัตยาจิต เรย์)
      
        หนังของสัตยาจิต เรย์นั้น ได้รับการยกย่องอย่างสูงทั้งในด้านรูปแบบทางศิลปะและเนื้อหาสาระ ในส่วนแรกผลงานของเขา เป็นการบุกเบิกแผ้วถางเส้นทางใหม่ให้แก่แวดวงหนังอินเดีย (ซึ่งแต่เดิมก็มีรูปร่างหน้าตาอย่างที่เรา ๆ ท่าน ๆ ทราบกันดี นั่นคือ เต็มไปด้วยฉากร้องเพลงเต้นระบำวิ่งข้ามภูเขา เนื้อเรื่องคละเคล้าทุกรสในแนวทางประโลมโลกย์) มาสู่งานในแนวทางเรียบง่าย สมจริง สะท้อนปัญหาชีวิต และมีลีลาทางศิลปะงดงามราวกับกวีนิพนธ์ ขณะที่ในทางเนื้อหางานของสัตยาจิต เรย์ได้ชื่อว่า เป็นแว่นส่องขยายที่มองชีวิตและความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้งเปี่ยมคุณค่าในเชิงมนุษยธรรม (ผมต้องขออนุญาตระบุไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า แม้หนังของเขาจะไม่ได้ประสบความสำเร็จถล่มทลายในแง่ของการทำเงิน และเป็นที่ชื่นชมในหมู่นักดูหนังค่อนข้างจำกัด แต่หนังของสัตยาจิต เรย์ก็ไม่ได้ดูยาก ซับซ้อน แห้งแล้ง ตรงข้ามกลับเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา เพลิดเพลินชวนติดตาม และน่าประทับใจทั้งในด้านอารมณ์ความรู้สึกและชั้นเชิงอันยอดเยี่ยมทางศิลปะ)
      
        กระทั่งอากิระ คุโรซาว่าเจ้าของฉายา "จักรพรรดิแห่งวงการหนังญี่ปุ่น" ก็เคยกล่าวยกย่องเอาไว้ (ผมจำถ้อยคำที่ถูกต้องไม่ได้แล้ว) แต่เนื้อความนั้นน่าจะประมาณว่า ใครที่ยังไม่ได้ดูหนังของสัตยาจิต เรย์ ถือได้ว่ายังมีชีวิตที่ขาดพร่องไม่สมบูรณ์ แม้จะเป็นคำชมที่ล้นเกินจริงไปสักหน่อย แต่ถ้าได้ดูหนังของสัตยาจิต เรย์ก็จะพบว่า ผลงานทุกชิ้นของผู้กำกับชั้นครูชาวอินเดียท่านนี้ มีส่วนอย่างยิ่งในการยกระดับความคิดและจิตวิญญาณของผู้ชมให้สูงขึ้น
      
        จนถึงทุกวันนี้ หนังของสัตยาจิต เรย์พอจะหาดูได้ง่ายขึ้นและมากขึ้นในบ้านเรา แต่ข้อเขียนว่าด้วยประวัติชีวิตและมุมมองความคิดของเขาอย่างเป็นระบบ ผมเพิ่งพบเห็นครั้งแรกจากหนังสือ "สุนทรียนิเทศศาสตร์:การศึกษาสื่อสารการแสดงและสื่อจินตคดี" เล่มนี้นี่เอง


------------------"มุมมอง" โดย "นรา"   พฤษภาคม 2546   จาก ผู้จัดการออนไลน์  ขอขอบคุณ --------



-- Edited by Bollywood2Thai at 12:25, 2005-03-21

-- Edited by Bollywood2Thai at 12:37, 2005-03-21

__________________
Page 1 of 1  sorted by
 
Quick Reply

Please log in to post quick replies.

Tweet this page Post to Digg Post to Del.icio.us


Create your own FREE Forum
Report Abuse
Powered by ActiveBoard