Members Login
Username 
 
Password 
    Remember Me  
Post Info TOPIC: ให้เสียงภาษาไทยโดย อินทรี


Senior Member

Status: Offline
Posts: 379
Date:
ให้เสียงภาษาไทยโดย อินทรี
Permalink   


อภิชาติ อินทร


 ชื่อ :  อภิชาติ  อินทร
 อายุ : 29 ปี
 การศึกษา : ปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ สาขาโฆษณา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต
 ตำแหน่ง :  กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินทรี ครีเอชั่น จำกัด
 ผลงาน :  อโศกมหาราช (Asoska)
                  2 คน 2 คม (Internal Affairs)
                  รุกฆาต ปฏิบัติการลวงโลก (Basic)
                  The Pianist
                  ศึกวันนรกแตก ( Freddy & Jason)
                  ฝ่าล้อมอันตรายข้ามชาติ (Belly of The Beast)
                  SPARTAN
                  หลอนทวงร่าง GODSEND
                  80 วัน จารกรรมฟัดข้ามโลก AROUND THE WORLD IN 80 DAYS       


         “ตอนเด็ก เวลาที่ผมเห็นพ่อกลับมาบ้าน พ่อมักจะบอกเหนื่อย เหนื่อยมาก จำได้ว่าผมตอบไปว่า พ่อไม่เห็นจะเหนื่อยอะไรเลย นั่งพากย์อยู่เฉย ๆ ไม่เห็นได้ทำอะไร พ่องอนผมไปนานเลยนะ จนตอนนี้ที่ผมต้องมานั่งพากย์หนัง ต้องมาเจอกับตัวเอง ถึงได้รู้ว่า ที่มันเหนื่อย มันเหนื่อยจริง ๆ นะ”


         คุณเอ๊ะ -  อภิชาติ  อินทร ในบทบาทบุตรชายคนโตที่ต้องบริหารงานบริษัท ดูแลการทำงานในส่วนนักพากย์ รวมถึงรับแรงคาดหวังในฐานะทายาทที่ต้องสร้างชื่อเสียงได้เทียบเท่ากับที่คุณพ่อ ชูชาติ อินทร เจ้าของสโลแกน ‘ให้เสียงภาษาไทยโดย อินทรี’ เคยทำ ผู้ชายคนนี้มีวิธีการทำงานอย่างไร


         “ผมเป็นลูกคนโต ตั้งแต่จำความได้ก็จะเห็นคุณพ่อพากย์หนังแล้ว ทำให้มีโอกาสซึมซับกับงานนี้ตั้งแต่เด็ก ครั้งแรกที่ได้มีโอกาสพากย์ คือ เรื่องสุภาพบุรุษทรนง ของ อาไพโรจน์ สังวริบุตร เป็นบทพระเอกตอนเด็ก ที่กำลังนั่งอ่านจดหมายของพ่อ เป็นบทพูดสั้น ๆ 2 ประโยค”


หลังจากนั้น ทำให้เราชอบการพากย์เสียงเลยหรือเปล่า 
         “ยังนะครับ ผมอาจจะเป็นเหมือนคนอื่น ถ้าที่บ้านทำอะไร เรามักจะไม่อยากทำ มันคงเป็นความรู้สึกที่เราเห็นบ่อยจนเบื่อ ถึงแม้ตอนที่ผมโตขึ้น ผมก็ยังไม่รู้สึกว่าอยากทำตรงนี้ แต่ในใจคิดอยู่เสมอว่า สักวันหนึ่งก็ต้องกลับมาทำงานตรงนี้ เพียงแต่ว่ามันอาจไม่ใช่ ณ เวลานี้เท่านั้นเอง ดังนั้นขอไปหาประสบการณ์อื่นก่อน


         อย่างผมจบโฆษณามา ก็ไปหาสมัครงานตามเอเยนซี่ก่อน ตอนนั้นไปสมัครแต่ยังไม่ได้ วันหนึ่งได้มาคุยกับเพื่อนว่า เรามาเปิดผับเล็ก ๆ กันดีกว่า โอเค ผมตกลง เปิดผับชื่อ ‘Up to You’ ตรงถนนพระอาทิตย์ ช่วงที่ทำผับนั้นอายุประมาณ 22 - 23 ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่หลังจากนั้นเผอิญว่าไปเปิดอีกสาขาแล้วทำให้ยอดร้านแรกโดนดึง พอดีกับที่พ่อโทรมาหาให้กลับไปพากย์หนังได้แล้ว ผมเลยได้กลับมาพากย์อีกครั้ง ถือว่าเป็นการประจวบเหมาะของทั้งเวลาและโอกาส


         ก่อนที่ผมจะมาพากย์เสียงอย่างเต็มตัว สมัยเรียนและที่กำลังเปิดผับ ผมรับพากย์บ้างเหมือนกัน หนังฮ่องกงก็มี หนังจีน หนังแขก หนังไทยรู้สึกจะเป็น ‘ฉากสุดท้ายของทัดทรวง’ พากย์เป็นตัวพระเอก ที่มีคุณ จิมมี่ ยูโฟร์ แสดง แต่เนื่องด้วยตัวหนังมีปัญหา ต้องถ่ายใหม่ เขาเลยให้คุณจิมมี่พากย์เอง


ช่วงที่กลับมาพากย์อีกครั้ง มีปัญหาหรือไม่
         “แล้วจำได้ว่าเป็นบทประมาณชายที่เดินผ่านไปผ่านมา ‘หวัดดีครับพี่ วันนี้เป็นไง’ ลักษณะโทนเสียงของคนอื่นจะฟังรื่นหูเป็นธรรมชาติ พอของเราจะโดดขึ้นมาปุ๊บ เสียงมันจะลอย ๆ ไม่เข้ากับคนอื่น ผมว่าทุกคนที่เข้าครั้งแรกมักจะเป็นอย่างนี้กันนะ เมื่อพากย์แล้วจะไม่เข้ากับทีม เสียงจะแปร่ง ๆ โดดเด่นขึ้นมาคนเดียว อาจจะด้วยความใหม่ และความไม่มีประสบการณ์ของเราด้วยส่วนหนึ่ง”


บทที่ได้พากย์ในตอนนี้
          “ส่วนใหญ่จะพากย์บทที่เป็นตัววัยรุ่นชาย อายุ 15 – 20 ปี เพราะเสียงผมตอนนี้จะประมาณ 20 กว่าได้ ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ถ้าผมไม่ว่างก็จะมีอาอีกคนที่พากย์แทนกันได้ ส่วนคุณพ่อตอนนี้ก็ 50 กว่าแล้ว ท่านบอกกว่าถ้าจะให้มาพากย์เสียงเด็ก 15- 16 ก็คงไม่ไหวเหมือนกัน แล้วเค้าก็อยากให้เรามาสืบทอดงานตรงนี้ด้วย 

           หนังใหญ่เรื่องแรกหลังจากเข้ามาเป็นนักพากย์เต็มตัว คือ เรื่อง Jeeper Creeper ภาคแรก พากย์เป็นตัวพระเอก”



มองกระแสการพากย์หนังตอนนี้อย่างไรบ้าง  (เพราะเดี๋ยวนี้มักให้นักแสดงมาพากย์เสียง)
           “สมัยก่อนยังไงก็ต้องเป็นนักพากย์ แต่เดี๋ยวนี้กระแสต่างประเทศที่ส่วนใหญ่จะนิยมให้ดารามาพากย์เสียง ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของการตลาดมากกว่า ถ้าจะให้ผมพูดในลักษณะของคนดู มันยังเป็นการตลาด ไม่ใช่ศิลปะ ไม่มีพลังของเสียง ยกตัวอย่าง ถ้าหากผมให้คุณพากย์ คุณก็ต้องเป็นอย่างเขา ใหม่ ๆ ผมมาพากย์ก็เป็นแบบเขาเหมือนกันนะ 
            ผมก็รู้ว่าในส่วนของหนังแคสอาจมีข้อจำกัดทั้งเรื่องของเงิน และเวลา แต่ถ้าเป็นผมทำ ผมต้องขอติวนักแสดงคนนั้นก่อน คือ ถ้าคุณยอมพากย์ คุณต้องสละเวลามาซ้อม เพราะนั่น หนึ่งเพื่อชื่อเสียงของคุณ สองเพื่องานของผมด้วย แต่ในลักษณะนั้น เขาคงไม่มีเวลาให้ได้ และในเรื่องของบัดเจ็ท (budget)  ซึ่งอาจจะไม่เยอะพอที่จะดึงดารามาฝึกเต็ม ๆ ได้” 


การพากย์หนังแต่ละเรื่องใช้เวลาเท่าไหร่
           “ถ้าเป็นหนังวิดีโอ ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นหนังใหญ่จะหนึ่งวันเต็ม ๆ ด้วยเหตุผลของความละเอียดที่ต่างกัน บัดเจ็ทก็ต่างกัน ในหนึ่งวันผมจะพากย์ได้ประมาณ 3 เรื่อง แต่ถ้าถามว่ามากกว่านี้ได้ไหม ตอบว่าได้   แต่เรื่องที่ 4 เรื่องที่ 5 คุณภาพจะเป๋แล้วนะ เพราะว่าการพากย์หนังจะต้องใช้สมาธิ หูต้องฟัง ปากก็ต้องอ่าน ตาต้องดู ดูทั้งบท ดูทั้งหน้าที่แสดงอารมณ์ของตัวละครด้วย สมองก็ต้องคิดตาม ผมคิดว่าขนาดตัวผมยังว่ายาก แต่ทั้งนี้มันก็ต้องขึ้นอยู่กับการฝึกฝนด้วย


แล้วตั้งแต่เริ่มพากย์ขึ้นมา คิดว่าพอใจคุณภาพการพากย์ของตัวเองแล้วหรือยัง
           “ยังครับ ผมคิดว่ายังต้องพัฒนาให้มากกว่านี้ ที่เริ่มแบบจริง ๆ จัง ๆ ก็ประมาณ 4 ปีนี่เอง ช่วงแรก ๆ เมื่อหนังที่เราพากย์ออกขาย ผมก็จะไปซื้อมาฟัง ดูเสร็จแล้วผมก็เขวี้ยงทิ้ง (หัวเราะ) เพราะเสียงมันโดดมาก เสียงมันแปร่ง ตอนนั้นรู้สึกไม่พอใจตนเอง คิดว่า พากย์ไปได้ไงวะ รู้สึกเซ็งไปเลย นอนก็แทบไม่หลับ เป็นแบบนี้ตลอด ถ้าถามว่ามันไปได้ไหม ได้ แต่มันเสียทั้งตัวเรา และผลงาน ตัวคุณพ่ออาจให้ผ่าน แต่ผมเองไม่ให้ผ่าน เรารู้ว่าอยากให้เสียงกลมกลืนกับทีมพากย์คนอื่นมากขึ้นกว่านี้ ใช้เวลาเกือบ 2 ปี จนกว่าเสียงจะเข้าที่เข้าทาง”




 




แล้วคิดว่าคุณสมบัติที่ดีของการเป็นนักพากย์น่าจะอยู่ตรงไหน
           “หนึ่ง คุณต้องมีความตั้งใจ อยากจะเป็นนักพากย์จริง ๆ จากนั้นมาฝึก สอง ต้องมีความอดทน
เพราะแค่จะใช้เวลา 3 วัน หรือ 1 เดือน ก็ไม่สามารถพากย์ได้ ต้องใช้เวลาเป็นปี เพราะฉะนั้นจะมีบ่อยมากที่เด็กใหม่ จะขอเข้ามาฝึกแต่มาอยู่ได้ไม่กี่วันก็ไป เพราะมาฝึกแล้วไม่เกิดรายได้ เขาก็เริ่มท้อ  ดังนั้น ทุกครั้งที่คนขอขอฝึก ผมจะถามก่อนนะว่า ตั้งใจจริงไหม  ถ้าไม่อดทนบอกได้เลยว่าไม่ได้ อย่างผมมีคุณพ่อเป็นฮีโร่ ผมก็จะดูแล้วว่า เขามีเทคนิคการพากย์อย่างไรบ้าง เวลาพากย์คุณพ่อจะไม่เก๊กเสียง  แต่เขาจะมีเทคนิควิธีในการพากย์ของตัวเอง เราก็ต้องคอยสังเกตดู เขาใช้ลีลาทำให้ใช้เสียงเป็นพระเอกได้อย่างไร”


ในคนหนึ่งคนจะพากย์เสียงได้มากสุดกี่เสียง
           “ส่วนตัวคิดว่ามีแค่ 3 โทน มีเสียงเดียวแต่มี 3 โทน สูง กลาง ต่ำ ถ้าอย่างผมภาพเสียงวัยรุ่นก็จะเป็นเสียงสูง แต่ถ้าเป็นวัยกลางคนก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง แก่ก็เป็นเสียงต่ำ ๆ เสียงมีเท่านี้เพียงแต่ว่า คนฟังอาจคิดว่าเราทำได้หลายเสียง เพราะตัวแสดงตัวนั้นเล่นผ่านไปแค่ฉากเดียว”



แล้วอย่างถ้าตัวละครที่มีลักษณะอ้วนหรือผอม จะมีวิธีคัดเสียงแบบไหน
          “ส่วนใหญ่ถ้าเราเห็นเป็นคนอ้วน จะให้เป็นเสียงท้วม ๆ ถ้าผอม ๆ จะให้เป็นเสียงแหลม ๆ แต่บางครั้งคนอ้วนก็จะให้เสียงแหลมได้เหมือนกัน แต่คนผอมจะยืนพื้นไว้ก่อนว่าเป็นเสียงแหลม ๆ แล้วก็ไม่ใช่ว่า คนหน้าตาอย่างน่าเกลียดมาก แล้วมาพากย์เสียงหล่อ อย่างนี้ก็ไม่ได้ ต้องดูหน้าหนัง ดูคาเรตเตอร์ของตัวละครนั้นด้วย เพราะเสียงจริงที่มาจากม้วนมาสเตอร์อาจเป็นเสียงธรรมดา ก็ได้ แต่เวลาพากย์จะให้ทำเสียงเป็นธรรมดาเป็นปกติไม่ได้ เพราะนั่นเป็นการพากย์ เราต้องพากย์ให้เข้ากับคาเรตเตอร์ของตัวละครนั้น”


แล้วการเป็นนักพากย์จำเป็นต้องมีเสียงที่แปลกกว่าคนอื่นหรือไม่
          “ต้องดูก่อนนะว่าเป็นเสียงที่แปลกในลักษณะไหน ยกตัวอย่างนะ คุณอาจมีเอกลักษณ์ของเสียงที่จะพากย์ตัวนี้ แต่เมื่อต้องไปพากย์เสียงตัวอื่น เสียงคุณก็ยังเป็นแบบเสียงแบบเดิม ไม่มีความแตกต่างระหว่างตัวละครทั้งสอง เพราะเสียงมีความเป็นเอกลักษณ์มากเกินไป อย่างนี้ก็ไม่ได้ หากเป็นเสียงกลาง ๆ จะดี เพราะการมีเสียงโดดเด่นเกินไป จะพากย์ได้ไม่กี่ตัวเท่านั้น”


ปัญหาที่เจอในการพากย์หนังส่วนใหญ่คืออะไร
          “บทพากย์ พ่อเคยพูดเสมอว่า ถ้าบทพากย์ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง  บทพากย์จึงเป็นหัวใจหลักของหนัง ทั้งคุณพ่อและพวกผมทุกคนจะเคารพตรงนี้มาก ถ้าในบทพากย์นั้นล็อกคำมาให้พอดี สำนวนไม่ติดขัด  งานทุกอย่างก็จะราบรื่น จะพากย์กันอย่างสบาย สนุกสนาน แต่ถ้าบทไหนที่เป็นแบบ สำนวนอะไรก็ไม่รู้  อย่างนี้ส่วนหนึ่งถ้าถามว่าเปลี่ยนบทได้ไหม ได้  แต่เราจะไม่เปลี่ยน เพราะแค่พากย์บทธรรมดาแล้วทำให้สนุก เราก็เหนื่อยแล้ว เรามาพากย์หนัง ไม่ได้มาแปล แล้วเราก็คิดว่า ด้วยศักยภาพของคนแปลเขาก็มีอยู่แล้ว  นอกจากสำนวนนั้นจะไม่ไหวเลย ถ้าฝรั่งพูดออกมา 10 คำ คุณก็ต้องแปลออกมาให้ได้ 10 หรืออย่านั้นก็ต้อง 8 – 9 หรือ 11-12 ต้องไม่มากกว่านี้ แต่ถ้าคุณแปลออกมา 15 คำ อย่างนี้เราก็ต้องรีบพูดจ้ำ ๆ เพื่อให้ตรงกับปากที่ขยับ อย่างนี้มันก็ไม่ได้ 

          อุปสรรคอีกอย่าง คือ ตัวนักพากย์เอง การทำงานของผม คือ การทำเป็นทีม พากย์พร้อมกัน มีเจ็ดคนก็ต้องพากย์พร้อมกันทั้งเจ็ดคน  เพราะจะให้ความรู้สึกของตัวละครได้มากกว่า หรือถ้ามีปัญหาก็สามารถช่วยกันแก้ไขตอนนั้นได้ ยกเว้นกรณีที่หาคิวไม่ได้ เวลาไม่ตรงกัน อย่างนั้นต้องพากย์แยก แต่ฟิวของหนังจะไม่เหมืนกันเท่านั้นเอง”



ทำงานใช้เสียงทุกวัน ดูแลสุขภาพอย่างไรบ้าง
          “ต้องพักผ่อนให้มาก นอนให้พอ ดื่มน้ำให้เยอะ ถ้าเป็นไปได้ก็สังสรรค์ให้น้อย เพราะกว่าจะพากย์หนังเสร็จก็ 2 ทุ่ม เรื่องไหนที่ยาก ๆ ก็ 4-5 ทุ่ม”


แล้วแบ่งเวลาการทำงานอย่างไร
          “อย่างลักษณะบริหารงานของทางอินทรีย์ ผมจะเป็นคนรับงานทั้งหมด ติดต่องาน รับงาน ดิวกับลูกค้าทั้งหมด
           แม้ตำแหน่งผมเป็น กรรมการผู้จัดการ แต่ทำทุกอย่างเลยนะ(หัวเราะ ) หลังจากนั้นจึงจะจ่ายงานให้กับคนอื่นต่อไป คนนี้อาจให้ไปแปลงบทมา คนนี้อาจให้ไปทำบัญชี คนนี้อาจดูเรื่องบท ซีร็อกบท  

           ผมอาจพูดได้เลยว่าที่นี่เป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่รับพากย์หนัง เหตุผลที่เราตั้งขึ้นมาเพราะอยากทำเป็นระบบใหญ่ แต่ก่อนเราจะให้หัวหน้าทีมเป็นคนดูแลงาน ทำให้กระจายงานออกไม่ได้



แล้วเคยรู้สึกกดดันกับแรงคาดหวังของคนรอบข้างว่าต้องทำงานเก่งเหมือนที่คุณพ่อ เคยทำไว้หรือไม่
           “รู้สึกกดดันมากเลยครับ ถึงตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ เพราะสิ่งที่พ่อทำเอาไว้มันสูงมาก ๆ หลาย ๆ คนที่รู้ว่าผมเป็นลูกพ่อเขาจะคาดหวังไว้กับตัวผมสูง ทั้งที่ความจริงแล้วเรายังทำได้ไม่ถึงขนาดเขาเลย สิ่งเหล่านี้ทำให้เรากดดันตัวเอง เครียดในบางครั้ง เพราะทุกคนตั้งความหวังไว้กับเรา ทว่าตั้งแต่ประมาณ 3-4 ปี ที่แล้วจนถึงปัจจุบันที่ทุกคนรู้แล้วว่าคุณพ่อเริ่มถ่ายงานมาทางผม ก็ถือว่าผ่อน ๆ ความรู้สึกนั้นลงมาได้บ้าง


           อีกอย่างที่รู้สึกกดดัน คือ ในฐานะที่ผมเป็นเจ้าของบริษัท แต่ผมต้องปกครองคนที่อายุมากกว่า เป็นคนที่เคยทำงานร่วมรุ่นกับคุณพ่อ รุ่นตอนที่เราเป็นเด็ก เจอกันแล้วผมพูดว่า ‘อา หวัดดี อา หวัดดี’ แต่ ณ วันนี้ที่เราต้องมาดูแลเขา บางครั้งก็เลยรู้สึกหนักใจ แต่ด้วยเราอยู่ด้วยกันแบบครอบครัว เวลาคุยงานก็เลยจะคุยแบบทีเล่นทีจริง อย่างสนุกสนานมากว่า ผมจะทำงานค่อนข้างสนุกสนานนะ เพราะถ้าเครียดเมื่อไหร่ เราจะรู้ว่าพากย์เสียงไม่ได้ บรรยากาศในการทำงานก็จะไม่สนุก”


วางแผนงานที่จะทำในอนาคตอย่างไรบ้าง
           “ณ ตอนนี้เราเปิดอบรมการพากย์เสียง เราทำตรงนี้ขึ้นเพื่อต้องการกลุ่มเลือดใหม่ ทั้งนี้เพื่อเราจะได้เห็น ได้ฝึก จะได้ไม่ต้องมีแบบที่เดินเข้ามาขอฝึกแล้วอาจไม่ได้อะไรกลับไป เสียเวลาของคุณด้วย ระหว่างเรียนเราก็จะได้ดูว่าคุณมีแววทางด้านนี้ด้วยหรือไม่ ซึ่งตอนนี้เปิดไป 3 รุ่นแล้ว

           อีกอย่าง คือ การพัฒนาคุณภาพของเสียงให้ดีขึ้น ซึ่งเทคโนโยลีที่มีอยู่ตอนนี้สามารถเอื้อประโยชน์ในส่วนนี้ได้” 



มีข้อแนะนำอย่างไรสำหรับคนที่สนใจอยากเป็นนักพากย์
           “นักพากย์จำเป็นต้อง หนึ่ง พูดชัด ยิ่งชัดถ้อยชัดคำยิ่งดี สอง พูดต้องมีอักขระ มีควบกล้ำ ร เรือ ล ลิง สาม ต้องอ่านหนังสือคล่อง พาวเวอร์ของเสียงก็ต้องมี
           แล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ต้องมีน้ำเสียง คือ มีเนื้อเสียงที่ดี แต่ต้องอย่าลืมว่าคุณอยากมาเป็นนักพากย์นะ ไม่ใช่อยากมาเป็นพระเอก นางเอก ดังนั้นทีมพากย์ของผมจึงไม่ได้หล่อสวยทุกคน ใครที่มีเสียงห้าว ๆ ก็อาจเหมาะกับคาเรตเตอร์บทบาทโหด ๆ ใครมีเนื้อเสียงแหลม ๆ ก็อาจให้พากย์บทตลกไป”


           “การทำงานพากย์หนังก็เหมือนกับการที่เราเป็นนักแสดง เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ใช้หน้าตาแสดง แต่เราใช้เสียงแสดง
            หากเสียงที่ให้ได้มา 100 เปอร์เซ็นต์ เราก็ต้องทำให้ได้ 110 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราต้องใส่อารมณ์ให้มากกว่า หากใส่เท่า ๆ หนังจะดูจืดไปเลย  ไม่มีอรรถรส
            อีกทั้งอาชีพนี้ส่วนหนึ่งก็เหมือนกับนักร้องที่มีหน้าที่มอบความสุข ถ้าเราถ่ายทอดเสียงออกไปแล้วคนฟังรู้สึกแฮปปี้  เราก็จะมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น”

            นี่คือคำพูดทิ้งท้ายที่คุณ เอ๊ะ อภิชาติ อินทร มอบให้กับเรา





 จาก   http://www.bunditcenter.com/     ขอขอบคุณ


 



__________________
Page 1 of 1  sorted by
 
Quick Reply

Please log in to post quick replies.

Tweet this page Post to Digg Post to Del.icio.us


Create your own FREE Forum
Report Abuse
Powered by ActiveBoard