Members Login
Username 
 
Password 
    Remember Me  
Post Info TOPIC: ความสัมพันธ์ไทยกับอินเดีย


Senior Member

Status: Offline
Posts: 379
Date:
ความสัมพันธ์ไทยกับอินเดีย
Permalink   


 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอินเดียด้านการทูต
         ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินเดียเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2490 ขณะนี้ไทยมีสถานเอกอัครราชทูตตั้งอยู่ที่กรุงนิวเดลี และมีสถานกงสุลใหญ่อีก 2 แห่ง ที่เมืองกัลกัตตา เมืองมุมไบ ส่วนอินเดียมีสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพฯ และมีสถานกงสุลใหญ่ที่เชียงใหม่ และที่สงขลา

ด้านการเมือง
      ในช่วงสงครามเย็นและสงครามกัมพูชา ความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย ค่อนข้างห่างเหิน เนื่องจากไทยเห็นว่า อินเดีย (ภายใต้การนำของนางอินทิรา คานธี) มีความใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียต และรับรองรัฐบาลเฮง สัมริน ในขณะที่ไทยเป็นสมาชิก SEATO ซึ่งอินเดียเห็นว่า ไทยมีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และเป็นพันธมิตรกับปากีสถาน จึงมีความไม่ไว้วางใจต่อกันและกัน
อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ ไทย-อินเดีย ใกล้ชิดขึ้นในปลายทศวรรษที่ 1980 เมื่ออินเดียเริ่มดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในปี 2534 และดำเนินนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ที่ให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายมองตะวันตก (Look West Policy) ของไทย ที่ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจึงพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงหลายครั้ง ในช่วงปี 2544-2546 ในสมัยรัฐบาลพรรค BJP ของอดีตนายกรัฐมนตรี Vajpayee หลังจากที่ว่างเว้นมานานหลายปี และสามารถพัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างกันได้อย่างเป็นรูปธรรม
      ในขณะนี้ แม้ว่าอินเดียจะจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคคองเกรส แต่ก็ได้แสดงเจตจำนงที่ชัดเจนว่าต้องการกระชับความสัมพันธ์กับไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และยืนยันที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีที่รัฐบาลชุดที่แล้วของอินเดียมีต่อไทย กลไกความร่วมมือทวิภาคีที่สำคัญ คือ คณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี(Joint Commission for Bilateral Cooperation) จัดตั้งเมื่อปี 2532 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นประธาน มีการประชุมแล้ว 4 ครั้ง ประชุมครั้งล่าสุดเมื่อ 13-14 กุมภาพันธ์ 2546 ที่กรุงนิวเดลี (ซึ่งหัวหน้าคณะผู้แทนคือ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นการประชุมที่จัดขึ้นหลังจากว่างเว้นมานานถึง 7 ปี)

ด้านความมั่นคง
     ไทยและอินเดียมีความร่วมมือด้านความมั่นคงในกรอบคณะทำงานร่วมด้านความมั่นคง ไทย-อินเดีย (Thailand-India Joint Working Group on Security) ฝ่ายไทยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหัวหน้าคณะ ฝ่ายอินเดียมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศซึ่งรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงเป็นหัวหน้าคณะ มีการประชุมกันแล้ว 2 ครั้ง เมื่อเดือนพฤษภาคม และเดือนธันวาคม 2546

ด้านเศรษฐกิจ
     ไทยให้ความสำคัญต่อการดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอินเดียอย่างสูง โดยคำนึงถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินเดีย ทั้งในแง่ของการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และขนาดของตลาด ซึ่งมีประชากรระดับกลาง-สูง ที่มีกำลังซื้อสูง ประมาณ 300 ล้านคน ตลอดจนความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลไกสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ คณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee) ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส จัดตั้งเมื่อปี 2532 มีการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2546 และมีคณะกรรมการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ไทย-อินเดีย

การค้า
      การค้าไทย - อินเดียยังมีปริมาณไม่มากเมื่อเทียบกับศักยภาพ ปริมาณการค้ารวมในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2542-2546) มีมูลค่าเฉลี่ย 1,168 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2546 มีมูลค่าการค้ารวม 1,509.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ร้อยละ 27.36 โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 230.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในภาพรวม ไทยนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากอินเดีย และส่งออกสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรม ไทยและอินเดียมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าสองฝ่ายให้ถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2547 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะทำได้สำเร็จ เพราะในปี 2546 มูลค้าการค้ามีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2545 ถึงร้อยละ 27.63 และในระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2547 มูลค่าการค้ามีปริมาณถึง 703 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


การจัดตั้งเขตการค้าเสรี ไทย-อินเดีย (Free Trade Area : FTA)
     ไทยและอินเดียได้ร่วมลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรี ไทย-อินเดีย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2546 ในระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี อินเดีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญที่จะขจัดอุปสรรคทางการค้าและช่วยขยายการค้าระหว่างกัน นอกจากนี้ เขตการค้าเสรียังจะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติด้วย สาระสำคัญของกรอบความตกลงฯ คือ
1)เริ่มการเจรจาการค้าสินค้าในเดือนมกราคม 2547 ให้แล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2548 และกำหนดเปิดเสรีลดภาษีเหลือ 0 ภายในปี 2553
2)ให้ทยอยเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุนในสาขาที่มีความพร้อมก่อน โดยเริ่มเจรจา เดือนมกราคม 2547 และให้เสร็จภายในเดือนมกราคม 2549
3) ให้สินค้า Early Harvest 84 รายการมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มีนาคม 2547 (แต่ต้องเลื่อนออกไป) ขณะนี้ ไทยและอินเดียสามารถตกลงรายการสินค้าภายใต้ Early Harvest Scheme
(EHS) ได้ 82 รายการ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กันยายน 2547 โดยจะเริ่มลดภาษีลง 50% จากอัตราภาษี ณ วันที่ 1 มกราคม 2547 จากนั้น 1 กันยายน 2549 จะลดภาษีลง 75% และในวันที่ 1 กันยายน 2550 ลดลง 100% หรือภาษีเป็น 0

การลงทุน
     ไทยลงทุนในอินเดียเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน รองจากมาเลเซียและสิงคโปร์ และลงทุนเป็นอันดับที่ 18 จากนักลงทุนต่างชาติทั้งหมดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โครงการลงทุนของไทยในอินเดียมีทั้งสิ้น 110 โครงการ มูลค่า 23,379 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.01 ของการลงทุนจากต่างประเทศในอินเดียทั้งหมด นักลงทุนไทยส่วนใหญ่สนใจลงทุนในสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามากเป็นอันดับ 1 รองลงมา คือสาขาผลิตผลทางการเกษตร สาขาอุตสาหกรรมเบา และสิ่งทอ ตามลำดับสำหรับการลงทุนของอินเดียในไทย ในปี 2546 อินเดียมีโครงการที่ได้รับอนุมัติการ
ส่งเสริมการลงทุนจาก BOI รวม 11 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 1.9 ของโครงการจากต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติ เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ร้อยละ 120 ลงทุนเป็นอันดับ 9 ในแง่ของจำนวนโครงการ มีมูลค่าการลงทุน 3,519.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ประมาณ 30 เท่าตัว สาขาที่มีจำนวนโครงการลงทุนมากที่สุด คือ เคมีภัณฑ์และกระดาษ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเบาและสิ่งทอ

การท่องเที่ยว
     ตลาดนักท่องเที่ยวอินเดีย เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเป็นตลาดใหญ่อันดับที่ 14 เมื่อเทียบกับตลาดขาเข้าอื่นๆ ของไทย และมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.05
      ชาวอินเดียนิยมมาท่องเที่ยวที่ไทยเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ โดยในปี 2545 มีจำนวน 253,110 คน คิดเป็นร้อยละ 5 ของนักท่องเที่ยวอินเดียทั้งหมด จุดแข็งของไทยคือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยมีราคาถูก และไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลากหลาย มีโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค โรงแรมและสิ่งอำนวยความสะดวกดี ตลอดจนมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน
สำหรับนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปอินเดียมีประมาณ 18,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่เพื่อไปเยี่ยมชมสังเวชนียสถาน หรือเพื่อการศึกษา

ด้านการบิน
     เมื่อเดือนตุลาคม 2546 อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย (นาย Vajpayee) ประกาศว่าจะดำเนินนโยบายเปิดน่านฟ้าเสรี (Open Skies Policy) โดยอินเดียให้สิทธิไทยบินไป เดลี กัลกัลตา เจนไน มุมไบ 7 เที่ยวต่อสัปดาห์ และให้บินไปเมืองท่องเที่ยวอีก 18 เมือง โดยไม่จำกัดจำนวนเที่ยวบิน โดยมีเงื่อนไขคือไม่ให้ Fifth Freedom Rights (ในการบินต่อไปยังจุดอื่น) และให้สายการบินทำความตกลงทางพาณิชย์ (มิใช่ให้สิทธิบินเสรีโดยอัตโนมัติ) ในขณะที่ไทยให้สิทธิอินเดียบินมายังกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และเมืองอื่นๆ ได้ 7 วันต่อสัปดาห์
     รัฐบาลใหม่ของอินเดียยืนยันว่า จะสานต่อการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยจะมีการแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อให้สามารถทำการบินตามนโยบายเปิดน่านฟ้าเสรีโดยไม่ต้องทำความตกลงทางพาณิชย์ ได้โดยเร็ว

การเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคม
     ในปี 2544 นายกรัฐมนตรีไทยและอินเดียเห็นพ้องให้มีความร่วมมือไตรภาคีในการเชื่อมโยงถนนระหว่างไทย-พม่า-อินเดีย เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน

ด้านสังคมและวัฒนธรรม
     ไทยกับอินเดียได้จัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม เมื่อปี 2520 แต่ยังขาดการดำเนินการที่ต่อเนื่องและไม่มีผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 4 เมื่อกุมภาพันธ์ 2546 ฝ่ายไทยจึงได้เสนอให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Plan of Action) เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนกิจกรรมในอันที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมและความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนกับประชาชน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีผลอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากความร่วมมือทางวัฒนธรรมจะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในด้านอื่นๆ ต่อไป ขณะนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าว
     นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์อินเดียศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์สันสกฤตศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย
1. ความตกลงทางการค้า (2511)
2. ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (2512)
3. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม (2520)
4. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (2528)
5. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กับ Foreign Investment Promotion Board ของอินเดีย (2540)
6. ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (2543)
7. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ (2543)
8. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (2544)
9. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (2545)
10. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการสำรวจและใช้ประโยชน์จากอวกาศส่วนนอก (2545)
11. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการเกษตร เทคโนโลยีการเกษตร และ เศรษฐกิจการเกษตร (2546)
12. กรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรี ไทย-อินเดีย (2546)
13. ความตกลงด้านความร่วมมือทางการท่องเที่ยว (2546)
14. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือ เดินทางราชการ (2546)
15. โครงการความร่วมมือด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติของไทย และ กรมเทคโนโลยีชีวภาพของอินเดีย (2546)
16. สนธิสัญญาความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฎหมายในเรื่องทางอาญา (2547)

การเยือนของผู้นำระดับสูง
ฝ่ายไทย
พระบรมวงศานุวงศ์
- วันที่ 10-28 มีนาคม 2530 (ค.ศ. 1987) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนอินเดีย ในฐานะอาคันตุกะของรองประธานาธิบดีอินเดีย
- วันที่ 7-21 เมษายน 2535 (ค.ศ. 1992) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จฯ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 29 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2539 (ค.ศ. 1996) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ เพื่อทรงร่วมพิธีมอบรางวัล UNEP Sasakawa Environment Prize
- วันที่ 21-25 ธันวาคม 2539 (ค.ศ. 1996) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอินเดีย (หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์) อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 23-27 ธันวาคม 2541 (ค.ศ. 1998) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จฯ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และหม่อมเจ้าหญิงสิริวัณวรี มหิดล ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรองประธานาธิบดีอินเดีย
- วันที่ 30 มีนาคม 2544 (ค.ศ. 2001) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ ณ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์
- วันที่ 2-12 เมษายน 2544 (ค.ศ. 2001) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอินเดียเป็นการส่วนพระองค์
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนกรุงนิวเดลี ระหว่างวันที่ 26-31 มกราคม 2547 (ค.ศ. 2004) เพื่อเข้าร่วมการสัมมนา “International Conference on Biodiversity and Natural Products : Chemistry and Medical Application” และทรงบรรยายทางวิชาการในการสัมมนาดังกล่าว

รัฐบาล
- วันที่ 28 มีนาคม–1 เมษายน 2532 (ค.ศ. 1989) พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ นับเป็นการเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีไทย
- วันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2537 (ค.ศ. 1994) นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอินเดียตามคำเชิญของนาย Salman Khurshid รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย
- วันที่ 27-31 พฤษภาคม 2540 (ค.ศ. 1997) นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ
กระทรวงการต่างประเทศ เยือนอินเดียเพื่อหาลู่ทางขยายการค้าและการลงทุนในกรอบ BIMST-EC
-วันที่ 24-25 มิถุนายน 2540 (ค.ศ. 1997) พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ เดินทางไปกรุงนิวเดลีในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี
- วันที่ 8-10 กรกฎาคม 2543 (ค.ศ. 2000) นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนาย Jaswant Singh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย
- วันที่ 11-14 กรกฎาคม 2544 (ค.ศ. 2001) นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 26–29 พฤศจิกายน 2544 (ค.ศ. 2001) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือน
อินเดียอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 (ค.ศ. 2002) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ
- พฤศจิกายน 2545 (ค.ศ. 2002) นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รองนายกรัฐมนตรีไปอินเดีย
เพื่อประชุม ASEAN-India Business Summit
- วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2546 (ค.ศ. 2003) ) นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วม ไทย-อินเดีย ครั้งที่ 4 ที่กรุงนิวเดลี
- กุมภาพันธ์ 2546 (ค.ศ. 2003) น.พ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เดินทางไปร่วมงาน India-Soft 2003 ที่อินเดีย โดยเป็นแขกของรัฐบาลอินเดีย
- วันที่ 5-10 สิงหาคม 2546 (ค.ศ. 2003) นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไป
จัด Roadshow ที่กรุงนิวเดลี เมืองมุมไบ เมืองบังกาลอร์ และเจนไน โดยเป็นแขกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดีย
- วันที่ 21-23 ธันวาคม 2546 (ค.ศ.203) นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การต่างประเทศ เดินทางเยือนเมืองชัยปุระและกรุงนิวเดลี เพื่อร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ไทย-พม่า-อินเดีย เรื่องการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ครั้งที่ 2
- วันที่ 8-10 มิถุนายน 2547 (ค.ศ.2004) นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การต่างประเทศ เดินทางเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ
ต่างประเทศอินเดีย
- วันที่ 9-11 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ.2004) นายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินทางเยือนกรุงเจนไนและบังกาลอร์ และร่วมงาน “Bangalore Bio 2004”
- วันที่ 11-18 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ.2004) นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา เดินทางเยือน
อินเดียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของประธานโลกสภาและประธานราชยสภา

ฝ่ายอินเดีย
- ปี 2515 (ค.ศ. 1972) นาย V. V. Giri ประธานาธิบดีอินเดีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 19–20 ตุลาคม 2529 (ค.ศ. 1986) นาย Rajiv Gandhi นายกรัฐมนตรีอินเดีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 7-10 เมษายน 2536 (ค.ศ. 1993) นาย P.V. Narasimha Rao นายกรัฐมนตรีอินเดีย
เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2542 (ค.ศ. 1999) นาง Vasundhara Raje รัฐมนตรีช่วยว่าการ
กระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 18-19 มิถุนายน 2545 (ค.ศ. 2002) นาย Yashwant Sinha รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การคลัง เดินทางมาร่วมการประชุม ACD ครั้งที่ 1 ที่ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
- วันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 (ค.ศ. 2002) นาย Atal Behari Vajpayee นายกรัฐมนตรีอินเดีย
เดินทางแวะผ่านไทย หลังการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชา และได้หารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรี ที่กระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 30 มกราคม 2546 (ค.ศ. 2003) นาย L K Advani รองนายกรัฐมนตรีอินเดีย เยือนไทย
อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 21-22 มิถุนายน 2546 (ค.ศ. 2003) นาย Arun Shourie รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
เทคโนโลยีสารสนเทศและกระทรวงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอินเดีย เดินทางเข้าร่วมการประชุม ACD
ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดเชียงใหม่
- วันที่ 8-12 ตุลาคม 2546 (ค.ศ. 2003) นาย Atal Behari Vajpayee นายกรัฐมนตรีอินเดีย
เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2547 (ค.ศ.2004) นาย Yashwant Sinha รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ
ต่างประเทศ และนาย Arun Jaitley รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เดินทางร่วมการประชุม BIMST-EC ระดับรัฐมนตรีที่จังหวัดภูเก็ต
- วันที่ 1-2 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ.2004) นาย Dayanidhi Maran รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ
สื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เดินทางมาร่วมการสัมมนา Ministerial Conference on Broadband and ICT Development ที่กรุงเทพฯ
- วันที่ 10-12 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ. 2004) ดร. Anbumani Ramadoss รัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัว เดินทางมาร่วมการประชุม The Second Asia Pacific Ministerial Meeting (APMM-II) ที่กรุงเทพฯ
- วันที่ 16 กรกฎาคม 2547 (ค.ศ.2004) นาง Sonia Gandhi ประธานพรรครัฐบาลและพรรค
พันธมิตร United Progressive Alliance เดินทางมาร่วมการประชุม XV International AIDS Conference (IAC) ที่กรุงเทพฯ

กรกฎาคม 2547



เรียบเรียงโดย กองเอเชียใต้ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5043-44 E-mail : southasian02@mfa.go.th




__________________
Page 1 of 1  sorted by
 
Quick Reply

Please log in to post quick replies.

Tweet this page Post to Digg Post to Del.icio.us


Create your own FREE Forum
Report Abuse
Powered by ActiveBoard