Members Login
Username 
 
Password 
    Remember Me  
Post Info TOPIC: บอมเบย์หรือมุมไบ?


Senior Member

Status: Offline
Posts: 379
Date:
บอมเบย์หรือมุมไบ?
Permalink   


บอมเบย์หรือมุมไบ? การปะทะเชิงวัฒนธรรมตะวันตก-ตะวันออก


     ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ราชาสรี คุนนุมมัล คิดว่าเธออยู่ในบอมเบย์ แต่ตอนนี้เธอกลับประจักษ์แจ้งแก่ใจว่าทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมาทำกิจวัตรประจำวัน ภายในอพาร์ตเม้นต์ระดับชนชั้นกลางในเทศบาลนครที่เธออยู่นั้นมีชื่อว่า มุมไบ

      หลังจากศึกษาเรื่องบอมเบย์ในตำราเรียน และเรียนรู้เกี่ยวกับถนนหนทางต่างๆ ในแผนที่ของบอมเบย์จนทะลุปรุโปร่ง หญิงสาววัย 27 ปี นามคุนนุมมัล ก็พบว่าเมืองมุมไบที่เธออยู่ ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกวัน ขณะที่เพื่อนฝูงของเธอก็พยายามที่จะเลิกเรียกเมืองนี้ว่าบอมเบย์

     บอมเบย์ ศูนย์กลางการเงินของอินเดีย ซึ่งได้ชื่อมาจากยุคอาณานิคม มีประชาชนกระจุกตัวอยู่ตามที่พักอาศัยระดับต่างๆ ทั้งย่านสลัม, ที่พักอาศัยสไตล์วิคทอเรีย และอพาร์ตเม้นต์ตึกสูงระฟ้า มากถึง 18 ล้านคน ถูกเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2539 เพื่อตอกย้ำวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวมหาราษฎร์

      คุนนุมมัล เป็นชาวพื้นเมืองทางตอนใต้ของอินเดีย แต่มาเติบโตในเมืองนี้ จึงพบว่ามีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในการเรียกเมืองนี้ว่า มุมไบ

     "คำว่ามุมไบบ่งบอกถึงความเป็นอินเดียมากกว่า หรือพูดให้ถูกก็คือ สะท้อนถึงความเป็นชาวมหาราษฎร์อย่างมาก" ราชาสรี กล่าวพร้อมเสริมว่า "ขณะที่ชื่อเดิม ซึ่งใช้เรียกกันมานั้น ได้รับอิทธิพลจากยุคอาณานิคมอย่างชัดเจน"

      แต่ที่น่าขำก็คือ หลังจากเปลี่ยนชื่อเรียกเมืองนี้มาได้ 8 ปี คนทั่วโลก ก็ยังเรียกเมืองนี้ทั้งบอมเบย์และมุมไบ อยู่นั่นเอง

           แม้แต่นักเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์หลายหมื่นคน ที่เดินทางมานี่เพื่อเข้าร่วมการประชุมเวิลด์ โซเชียล ฟอรัม ก็ยังมีสติ๊กเกอร์คำว่า 'บอม' ติดกระเป๋าเอกสารของตัวเองทุกใบ โดยที่แต่ละคนต่างมุ่งหน้ามามุมไบ เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ชั้นแนวหน้า เดอะ ไทมส์ ออฟ อินเดีย ยังคงหน้าข่าวบันเทิงและหน้าข่าวสังคมโดยใช้หัวว่าเดอะ บอมเบย์ ไทมส์

         บอลลีวู้ด อุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ทำเงินมหาศาลเข้าประเทศ แถมมีฐานดำเนินงานอยู่ที่เมืองนี้ ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปใช้มอลลีวู้ด

        การเปลี่ยนชื่อเมืองนี้ ซึ่งมีกลุ่มอำนาจใหญ่ให้การสนับสนุนอยู่สองกลุ่ม คือกลุ่มดาราภาพยนตร์และกลุ่มผู้นำทางศาสนา ได้รับการรณรงค์อย่างต่อเนื่องจากกลุ่มการเมืองฮินดูปีกขวาที่ชื่อ ศิวะ เสนา

        พรรคดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันบริหารเมืองนี้ด้วย กระตุ้นให้ชาวเมืองปฏิเสธทุกอย่างที่เป็นมรดกตกทอดมาจากยุคอาณานิคม และคงชื่อเทศบาลนครตามชื่อมุมบาเทวี ซึ่งเป็นเทวีอารักขาหมู่เกาะทั้ง 7 ที่รวมตัวกันเป็นเมืองมุมไบ

     พล แทคเคอเรย์ ผู้นำพรรคศิวะ เสนา ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำสูงสุดของเมือง หลังจากออกมาประณามชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอย่างเผ็ดร้อน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ลูกหลานชาวเมืองมีสิทธิ-เสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ มากกว่าชาวมุสลิม

     ขณะที่พรรคคองเกรส คู่แข่งก็พยายามเอาชนะแทคเคอร์เรย์ ด้วยกลเกมการต่อสู้แนวอนุรักษ์ ด้วยการแสดงจุดยืนเรื่องการเปลี่ยนชื่อใหม่สนามบินซันตาครูซ และสถานีรถไฟวิคทอเรีย เทอร์มินัส โดยใช้ชื่อ ศิวะจี นักรบฮินดูในศตวรรษที่ 16

จุดชนวนทำให้เกิดกระแสการเปลี่ยนชื่อเมืองต่างๆ ในรูปแบบอาณานิคมทั่วอินเดีย อาทิ กัลกัตตา เป็นโกลกาตา มัทราส เปลี่ยนเป็นเจนไน

     ชื่อดั้งเดิมของเทศบาลนคร ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศแห่งนี้ มาจากนักล่าอาณานิคมชาวโปรตุเกส ที่เรียกขานหมู่เกาะแห่งนี้ว่าบอม บาเฮีย หรือเกาะที่ดี อุดมสมบูรณ์ แต่โปรตุเกสก็จำใจยอมเสียเกาะแห่งนี้เป็นบรรณาการแก่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 ของอังกฤษ เมื่อปี 2204 ก่อนที่เมืองนี้จะกลายมาเป็นท่าเรือพาณิชย์ของอังกฤษและรู้จักกันแพร่หลายในชื่อบอมเบย์

     กระนั้นก็ตาม ชาวมหาราษฎร์เองที่ยังคงปักหลักทำมาหากินในเมืองนี้ ต่างก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อเมือง

     "คุณจะเรียกเมืองนี้ว่าบอมเบย์ หรือมุมไบก็ได้ เพราะไม่ได้ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนแปลงไป" ซานโตส แมนโกนคาร์ ผู้บริหารแวดวงโฆษณาวัย 34 ปี ซึ่งเกิดและเติบโตที่เมืองนี้ กล่าวพร้อมเสริมว่า "สิ่งที่ผมแคร์มากกว่า คือ การเดินทางมหาโหดซ้ำซากจำเจ ด้วยรถไฟจากบ้านถึงที่ทำงาน ภาพเด็กเล็กๆ แก้ผ้าอาบน้ำใกล้รางน้ำสาธารณะบนทางหลวง ที่เห็นเป็นประจำ ซึ่งภาพเหล่านี้น่าจะได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นมากกว่ารณรงค์เรื่องเปลี่ยนชื่อเมือง"

     นอกจากนี้ การเปลี่ยนชื่อเมือง ซึ่งมีนัยหมายถึงการปฏิเสธความเป็นอาณานิคม ก็ไม่ได้สกัดกั้นการไหลบ่าของวัฒนธรรมตะวันตกแม้แต่น้อย ตั้งแต่เครือข่ายอาหารจานด่วนอย่างแม็คโดนัลด์ จนถึงร้านกาแฟเอ็กซ์เพรสโซที่บริหารโดยคนอินเดีย

     "ผมไม่คิดว่าจะมีใครเดือดร้อนกับเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ เพราะมิฉะนั้น เราคงไม่ได้เห็นสัญลักษณ์ของตะวันตกในเมืองนี้เลย" แมนโกนคาร์ กล่าว

     เช่นเดียวกับ วิภิน วิชยันต์ ผู้บริหารหนุ่มบริษัทให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือชั้นนำระดับโลก ก็เห็นด้วยว่าการเปลี่ยนชื่อเมือง เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น

     "ในสายตาคนหนุ่มสาวและคนเฒ่าคนแก่ เมืองนี้ก็ยังเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปไหน ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีเหตุวิวาทถึงขั้นลงไม้ลงมือ เมื่อมีการรณรงค์เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่" ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงกล่าว



จาก เนชั่นสุดสัปดาห์   ปีที่ 13 ฉบับที่ 608 วันที่ 26 ม.ค. - 1 ก.พ. 2547


สารคดีต่างประเทศ / นภาพรรณ จันทร์สว่าง แปลและเรียบเรียงจากสำนักข่าวเอเอฟพี


 



__________________
Page 1 of 1  sorted by
 
Quick Reply

Please log in to post quick replies.

Tweet this page Post to Digg Post to Del.icio.us


Create your own FREE Forum
Report Abuse
Powered by ActiveBoard