Members Login
Username 
 
Password 
    Remember Me  
Post Info TOPIC: วาดฝันเทียบชั้นฮอลลีวู้ด


Senior Member

Status: Offline
Posts: 379
Date:
วาดฝันเทียบชั้นฮอลลีวู้ด
Permalink   


"บอลลีวู้ด" วาดฝันเทียบชั้นฮอลลีวู้ด   



       อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย ที่รู้จักในชื่อ บอลลีวู้ด (หมายถึง ฮอลลีวู้ดแห่งบอมเบย์) ให้ความบันเทิงกับชาวอินเดียมายาวนาน ในแต่ละปี อุตสาหกรรมบอลลีวู้ด ผลิตภาพยนตร์ออกสู่ตลาดมากที่สุดในโลกประมาณ 800-1,000 เรื่อง


        ในแต่ละวัน ชาวอินเดียจะซื้อตั๋วเข้าไปหาความบันเทิงตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศราว 10 ล้านคน นี่ยังไม่รวมชาวอินเดียที่กระจายอยู่ทั่วโลกอีกประมาณ 20 ล้านคน และชาวต่างชาติที่นิยมชมภาพยนตร์อินเดีย ซึ่งมีให้ชมทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ญี่ปุ่น สหรัฐ ฟิจิ หรือแม้แต่รัสเซีย


         ปัจจุบัน การส่งออกภาพยนตร์อินเดียมีมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ต่อปี


     บริษัทที่ปรึกษาอาร์เธอร์ แอนเดอร์เซ่น ประเมินว่า การส่งออกภาพยนตร์อินเดียยังมีโอกาสขยายตัวอีกอย่างน้อยปีละ 50% และจะมีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2549

กระแสนิยมภาพยนตร์อินเดียในตลาดเกิดใหม่ ช่วยกระตุ้นให้บอลลีวู้ด เติบโตปีละ 15% ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หรือ สูงเป็น 3 เท่าของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่โตเพียง 5% ขณะที่รายได้รวมทั่วโลกในปีนี้ มีมูลค่าราว 1,300 ล้านดอลลาร์ แต่ยังต่ำมากหากเทียบกับรายได้รวมทั่วโลกของค่ายหนังฮอลลีวู้ดที่ทำเงินถึง 51,000 ล้านดอลลาร์

     บอลลีวู้ด ยังมีแหล่งรายได้ใหม่จากการขายสิทธิถ่ายทอดภาพยนต์ทางทีวีดาวเทียม รวมถึงขายดีวีดี วิดีโอในต่างแดน โดยปีที่แล้ว ทำรายได้ประมาณ 108 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 25% จากปี 2543

     กว่าจะมาถึงจุดนี้ อุตสาหกรรมบอลลีวู้ดต้องฝ่าฝันอุปสรรคมากมาย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาล และขาดแหล่งเงินทุนสนับสนุน

     บอลลีวู้ดต้องพึ่งพิงแหล่งเงินทุนนอกระบบจากกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 กระทั่งเมื่อปีที่แล้วเงินทุนสำหรับผลิตภาพยนตร์ที่ได้จากกลุ่มอิทธิพลมีสัดส่วนถึง 40% และนี่เองเป็นช่องทางให้กลุ่มมาเฟียเข้ามามีบทบาทในบอลลีวู้ด ตามมาด้วยการก่อเรื่องอื้อฉาวและเรื่องผิดกฎหมายมากมาย

     "เป็นกระบวนการล่อลวงสู่ทางที่ผิด มาเฟียเสนอให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ทำตัวเป็นเพื่อนที่ดี จากนั้นอาชญากรรมทั้งหลายแหล่ก็เกิดขึ้น" ชรินทร์ วากัล ตำรวจฝ่ายปราบปรามในนครบอมเบย์กล่าว

     ในฐานะผู้ปล่อยกู้ กลุ่มมาเฟียเริ่มเข้าไปยุ่งวุ่นวายกองถ่ายภาพยนตร์ และเมื่อภาพยนตร์ขาดทุน หรือไม่ทำกำไร การทวงหนี้แบบนอกระบบก็เกิดขึ้น นี่ยังไม่รวมกรณีที่กลุ่มมาเฟียอาจขู่กรรโชกทรัพย์กับผู้ผลิตภาพยนตร์รายอื่นที่ประสบความสำเร็จ หรือเรียกร้องสิทธิพิเศษต่างๆโดยไม่ต้องลงทุนลงแรง

     ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ผลิตและผู้กำกับภาพยนตร์ในบอลลีวู้ดถูกสังหารไปแล้ว 5 ราย อีกหลายสิบคนถูกขู่ฆ่า หรือได้รับบาดเจ็บ หนึ่งในผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเหล่ามิจฉาชีพได้แก่ อาจิต เทวานี ผู้ผลิตภาพยนตร์รายหนึ่งที่ถูกยิงเสียชีวิตนอกสำนักงานในเมืองบอมเบย์ เมื่อเดือน ก.ค. ปี 2544

     นอกจากนี้ ยังมี รักษ์ โรชาน ผู้ผลิตภาพยนตร์ชื่อดังที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ เมื่อปฏิเสธจะให้สิทธิจำหน่ายภาพยนตร์ของเขาในต่างประเทศกับกลุ่มมิจฉาชีพ

     อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลอินเดียตระหนักถึงความสำคัญของบอลลีวู้ดที่สร้างรายได้ก้อนมหึมาเข้าประเทศ ในปี 2543 บอลลีวู้ดได้รับการยกฐานะจากอุตสาหกรรมชั้น 2 ขึ้นเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นครั้งแรก นับแต่นั้นกระบวนการผลักดันให้บอลลีวู้ดผงาดขึ้นเป็นอุตสาหกรรมชั้นนำตามรอยอุตสาหกรรมไอที ก็เริ่มเปิดฉากขึ้น

     การยอมรับจากภาครัฐ ตามมาด้วยการปรับนโยบายเพื่อเปิดทางให้ผู้ผลิตภาพยนตร์เข้าถึงแหล่งเงินทุนถูกต้องตามกฎหมายเป็นครั้งแรก ในเดือนเม.ย. 2544

     ธนาคารเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอินเดียเป็นธนาคารแรกที่เข้าสู่ธุรกิจปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยปล่อยกู้ให้กับผู้ผลิตภาพยนตร์ 14 เรื่อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 13.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งผลที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจและยังไม่ขาดทุน

     แหล่งทุนที่ถูกกฎหมายช่วยลดปัญหาอื้อฉาวในบอลลีวู้ดจากฝีมือกลุ่มมาเฟีย แต่การขจัดกลุ่มมิจฉาชีพให้พ้นจากอุตสาหกรรมอย่างสิ้นซากยังคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

     นอกเหนือจากพึ่งพิงภาคธนาคาร ในปัจจุบัน บริษัทผลิตภาพยนตร์ในบอลลีวู้ดหลายแห่ง ใช้วิธีเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมเงินทุน โดยได้รับความสนใจด้วยดีจากธุรกิจยักษ์ใหญ่ อย่าง บริษัทการค้า ตาตา กรุ๊ป ที่ต้องการแตกไลน์การลงทุนเข้าอุตสาหกรรมภาพยนตร์

     การมีบริษัทชั้นนำร่วมลงทุนหมายถึงการมีระบบการบริหารงานแบบมืออาชีพมากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจำเป็นต่อการพัฒนาบอลลีวู้ดสู่ธุรกิจบันเทิงระดับโลกอย่างฮอลลีวู้ด

     รัฐบาลอินเดียยังมีแผนช่วยธุรกิจภาพยนตร์ ด้วยการยกเลิกการจัดเก็บภาษีธุรกิจบันเทิง 100% ซึ่งจะส่งผลให้โรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์ผุดตัวขึ้นอีกราว 450 โรงภายใน 5 ปีข้างหน้า

     การสนับสนุนจากภาครัฐมีผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น คาดว่าในอีก 5 ปี อัตราจ้างงานจะเติบโตถึง 70% ขณะปัจจุบันมีชาวอินเดียทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ รวมกันราว 2.3 ล้านคน

     อย่างไรก็ตาม บอลลีวู้ด ยังต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงอีกหลายด้าน หากต้องการวัดรอยเท้าฮอลลีวู้ด เริ่มจากต้องปรับการทำงานแบบมืออาชีพ ไม่ใช่ธุรกิจในครอบครัวหรือกึ่งครอบครัวเช่นที่ผ่านมา ซึ่งปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยระบบทำงานแบบภาคธุรกิจมาใช้

     ที่ผ่านมา การผลิตภาพยนตร์ในอินเดียค่อนข้างซับซ้อน ไม่เป็นระบบแบบแผน ผู้ผลิตภาพยนตร์อาจทำหน้าที่ตั้งแต่ปลุกนักแสดงให้ลุกขึ้นมาทำงาน หาของประกอบฉาก จนถึงหาแหล่งเงินทุนนอกระบบ ส่วนนักแสดงอาจรับงานแสดงครั้งละหลายเรื่อง ทำให้เกิดปัญหาวิ่งรอกไปกองถ่ายไม่ทัน

     บริษัทวิชเยท ฟิล์ม ของซันนี ดีโอล นักแสดงวัย 41 ปีที่ผันตัวเองมาสร้างภาพยนตร์เป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าสู่กระบวนปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ดีโอลว่าจ้างบริษัทยูนิเวอร์แซล คอนซัลติง ให้ช่วยกำหนดแผนการถ่ายทำภาพยนตร์แบบมืออาชีพ

     แทนที่จะใช้สมุดจดเช่นที่เคยทำมา ยูนิเวอร์แซลแนะนำให้ดีโอลใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ในการเก็บข้อมูล และกำหนดแผนงานต่างๆ เพื่อให้การทำงานเป็นระบบและมีการเตรียมพร้อมมากขึ้น อาทิ การหาของประกอบฉากจะกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะใช้อะไรบ้าง หรือไปรับของมาจากร้านไหน ขณะที่ระบบงานแบบเก่า ผู้กำกับอาจใช้วิธีสั่งให้ลูกน้องไปหาของเมื่อจวนตัว

     นอกเหนือจากการปรับวิธีทำงานให้ได้มาตรฐาน บอลลีวู้ดยังกำลังปรับตัวเข้ากับโลกไอที โดยได้เปรียบจากการที่อุตสาหกรรมไอทีของอินเดียขึ้นชื่อลือชาเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีต้นทุนต่ำกว่าที่อื่นๆ ทั้งเต็มไปด้วยบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ที่จะช่วยให้การทำสเปเชียล เอฟเฟคท์ หรือการทำภาพแอนิเมชั่นเพื่อนำมาใช้ในภาพยนตร์ มีต้นทุนต่ำลง

     โดยทั่วไป บริษัทด้านสเปเชียล เอฟเฟคท์ และทำภาพแอนิเมชั่นในอินเดียจะคิดค่าบริการต่ำกว่าบริษัทด้านเดียวกันในสหรัฐถึง 75% ศักยภาพของบริษัทอินเดียสามารถแข่งขันกับตลาดได้อย่างไม่น้อยหน้า อาทิ กรณีบริษัทเพนตามีเดีย กราฟฟิคส์ ของอินเดียทำภาพแอนิเมชั่น 3 มิติให้กับภาพยนตร์เรื่อง "ซินแบด" ของสหรัฐ อีกทั้งมีสัญญาทำงานให้กับค่ายภาพยนตร์ในฝรั่งเศสและญี่ปุ่น

     บริษัทอาร์เธอร์ แอนเดอร์เซ่น คาดการณ์ว่า ธุรกิจส่งออกด้านแอนิเมชั่นของอินเดียจะมีมูลค่าถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ในปีหน้า

      อินเทอร์เน็ตเป็นอีกช่องทางที่ถูกมองว่าจะช่วยให้ชาวอินเดีย และผู้คนทั่วโลกเข้าถึงภาพยนตร์บอลลีวู้ดมากขึ้น แต่แม้การพัฒนาเทคโนโลยีจะก้าวไกลเพียงใด เนื้อหาของภาพยนตร์ยังเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องคำนึง โดยต้องมีความเป็นสากล และหลากหลายมากขึ้น

      ที่ผ่านมา ภาพยนตร์บอลลีวู้ดส่วนใหญ่ มักนำเสนอเรื่องราวความรักที่เต็มไปด้วยอุปสรรค แต่จบลงด้วยความสมหวัง แทรกด้วยฉากเต้นรำที่ขาดไม่ได้เป็นอันขาด ไม่ว่าตัวละครในเนื้อเรื่องกำลังสุขหรือโศกเศร้า

     อย่างไรก็ดี แม้ว่าพล็อตเรื่องที่ดูซ้ำซาก รวมถึงองค์ประกอบที่ดูเชย อาจเป็น "จุดขาย" อันหนึ่ง ที่ทำให้ภาพยนตร์จากบอลลีวู้ด ได้รับความสนใจจากแฟนภาพยนตร์ทั่วโลก ซึ่งเริ่มเบื่อหน่ายกับความจำเจของภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดก็เป็นได้






scoop จาก กรุงเทพธุรกิจ 


วันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2546

 

-- Edited by Bollywood2Thai at 20:18, 2005-04-07

__________________
Page 1 of 1  sorted by
 
Quick Reply

Please log in to post quick replies.

Tweet this page Post to Digg Post to Del.icio.us


Create your own FREE Forum
Report Abuse
Powered by ActiveBoard