Members Login
Username 
 
Password 
    Remember Me  
Post Info TOPIC: กำเนิดเขาไกรลาส


Senior Member

Status: Offline
Posts: 379
Date:
กำเนิดเขาไกรลาส
Permalink   




กำเนิดเขาไกรลาส  

    โดย......บัญชา ธนบุญสมบัติ buncht@mtec.or.th

 

อัศจรรย์แห่งธรณีแปรสัณฐาน


      ใครๆ ก็รู้ว่าเทือกเขาหิมาลัยนั้นสุดแสนยิ่งใหญ่ เพราะมียอดเขาเอเวอร์เรสต์ที่สูงที่สุดในโลก ส่วนชื่อก็สุดแสนเหมาะสม เพราะ หิมาลัย = หิมะ + อาลัย (ที่อาศัย) ซึ่งบ่งว่าเทือกเขานี้มีหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปี

      แต่หากรู้เพียงแค่นี้ ก็น่าเสียดายความสำคัญในมิติอื่นๆ เพราะหิมาลัยเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญหลายสาย เช่น คงคา ยมุนา และพรหมบุตร โดยเฉพาะ 'คงคาสวรรค์' ตามคติของชาวอินเดียนั้น ได้หล่อเลี้ยงพื้นที่กว่า 300,000 ตารางกิโลเมตร ตามแนวเส้นทางราว 3,000 กิโลเมตร มานานนับพันปีแล้ว

     หิมาลัยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นดินแดนแห่งเทพเจ้าของชาวฮินดู เขาไกรลาส (เขียนว่า ไกลาส ก็ได้) ก็ถือกันว่าเป็นที่สถิตของพระอิศวร ส่วนในทางพุทธศาสนานั้น หิมาลัยเป็นดินแดนต้นกำเนิดของศากยวงศ์ เพราะพระเจ้าโอกกากราช ได้สร้างเมืองที่ป่าไม้สักกะอันเป็นที่อยู่ของกบิลดาบสแห่งเทือกเขาหิมาลัย และสถาปนาราชวงศ์ศากยะขึ้น แม้พระพุทธเจ้าก็ประสูติ ณ ลุมพินีวัน ในเขตหิมาลัย หรือประเทศเนปาลในปัจจุบัน

      หิมาลัยเป็นขุมทรัพย์ทางวิชาการของเหล่านักวิทยาศาสตร์ เพียงแค่ความหลากหลายทางชีวภาพก็น่าตื่นตะลึงแล้ว เพราะหิมาลัยมีระดับความสูงแตกต่างกันทำให้มีสภาพภูมิอากาศหลากหลาย จึงพบพืชกว่า 5,000 ชนิด นก 530 ชนิด แมลง 2,300 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 190 ชนิด (ข้อมูลใหม่อาจพบมากกว่านี้)

     เมื่อราว 40-50 ล้านปีก่อนนั้น แผ่นเปลือกโลกอินเดียชนกับแผ่นยูเรเชีย เกิดเป็น 'รอยย่น' หรือเทือกเขาหิมาลัยขนาดมหึมา แผ่นเปลือกโลกอินเดียนั้นมีทั้งผืนน้ำและพื้นดิน แต่ต่อมาผืนน้ำเหือดแห้งไป และก้นทะเลก็ได้กลายเป็นเทือกเขา ที่มั่นใจว่าภาพนี้น่าจะถูกต้องก็เพราะว่า หากดูภาพจากมุมสูงจะเห็นรอยย่นที่ว่าชัดเจน หากดูเนื้อภูเขา ก็จะพบหินตะกอนซึ่งบ่งบอกว่าที่แห่งนั้นเคยเป็นทะเลมาก่อน แถมยังพบซากฟอสซิลของสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ที่เรียกว่า แอมโมไนต์ (ammonite) แถวๆ แม่น้ำ Kali Gandaki ในเนปาลอีกด้วย

      ปัจจุบัน เทคโนโลยี GPS (Global Positioning System) สามารถวัดได้ว่า แผ่นเปลือกโลกอินเดียยังคงเคลื่อนไปทางเหนือด้วยอัตราเร็ว 18 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งทำให้เทือกเขาหิมาลัยสูงขึ้นประมาณ 5 มิลลิเมตรต่อปี แม้จะน้อยนิด แต่ก็วัดได้จริง

     มุมมองของนักวิทยาศาสตร์นั้น ฟังแล้วน่าตื่นเต้น แต่คงจะสมดุลยิ่งขึ้น หากได้เห็นความงดงามในมุมมองของศิลปินบ้าง ในวรรณกรรมเรื่อง เมฆทูต มหากวี กาลิทาส (Kalidas) ได้พรรณนาความงามของเทือกเขาหิมาลัยไว้ว่า (ถอดความโดยท่านอาจารย์กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย)

ลิ่วละล่องฟ่องฟ้านภากาศ ถึงไกลาสสิขรินทร์ปิ่นสวรรค์

สุกสกาวขาวระยับจับคนันตร์ รับอาคันตุกะชนด้นดำเนิน

อันไกลาสคีรีศรีสิงขร ถิ่นอมรเทพเจ้าภูเขาเขิน

ดังคันฉ่องส่องเงาสกาวเกิน เทพีเพลินส่องโฉมประโลมสุรางค์

หรือดังที่อาจารย์อรุณ เฉตตีย์ พรรณนา ไว้ว่า "เทือกเขาหิมาลัยดูประหนึ่งคล้ายสายสังวาลที่ล่ามฟ้าและดินมิให้พรากจากกัน เป็นสายสัมพันธ์จากพื้นพิภพที่ไปบรรจบหมู่เมฆอันสูงสุดลิบสุดสายตา” นั่นเอง

ประตูสู่มิติอื่น

     ใครสนใจหิมาลัยในเชิงธรณีวิทยา ลองไปเริ่มที่ The Himalayas - Geology - Formation of the Himalayas ที่ http://library.thinkquest.org/10131/geology.html

      สำหรับกลอนและเกร็ดความรู้ส่วนใหญ่ ผมนำมาจากเรื่อง หิมาลัยรำลึก ในหนังสือ อินเดีย แผ่นดินถิ่นมหัศจรรย์ เขียนโดยอาจารย์อรุณ เฉตตีย์ จัดพิมพ์โดย ศูนย์อินเดียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ISBN 974-572-552-8)

 


จาก  http://www.bangkokbiznews.com/jud/sat/20050103/news.php?news=column_16028083.html

__________________
Page 1 of 1  sorted by
 
Quick Reply

Please log in to post quick replies.

Tweet this page Post to Digg Post to Del.icio.us


Create your own FREE Forum
Report Abuse
Powered by ActiveBoard